นาโตอาจงัดใช้มาตรา 5 หากรัสเซีย
โจมตีทางไซเบอร์ชาติสมาชิก
เจ้าหน้าที่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เปิดเผยว่า นาโตอาจใช้มาตรา 5 เพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับชาติสมาชิก ขณะที่ความกังวลด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากกรณีที่รัสเซียบุกยูเครนนั้นได้ลุกลามออกไปยังประเทศอื่น ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มนาโตได้พยายามสร้างความกระจ่างมาโดยตลอดว่า การโจมตีทางไซเบอร์ในระดับที่รุนแรงนั้นเข้าเกณฑ์ที่นาโตจะใช้มาตรา 5 ที่ระบุว่า "การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง จะถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกโดยรวม" หรือไม่ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังถือเป็นการตั้งสมมติฐานอย่างกว้าง ๆ
เจ้าหน้าที่ของนาโตให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กลุ่มพันธมิตรนาโตตระหนักดีถึงผลกระทบจากการดำเนินการทางไซเบอร์ที่มุ่งร้ายอย่างมีนัยสำคัญในสถานการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจถือเป็นการโจมตีแบบติดอาวุธรูปแบบหนึ่ง สำหรับแนวทางการตอบโต้ร่วมกันที่จะนำมาใช้นั้น เราจะไม่รอคาดเดาว่าการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นส่งผลที่ร้ายแรงเพียงใด โดยรูปแบบการตอบโต้นั้นอาจรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจ มาตรการด้านไซเบอร์ หรือแม้แต่การใช้กองกำลังแบบดั้งเดิมด้วย ขึ้นอยู่กับลักษณะการโจมตีที่เกิดขึ้น"
ไม่ว่าการโจมตีทางไซเบอร์จะรุนแรงตามเกณฑ์ที่จะใช้มาตรา 5 หรือไม่ก็ตาม ชาติพันธมิตรนาโตก็มีสิทธิตัดสินใจในทางการเมือง
ทางด้านอังกฤษและสหรัฐเตือนว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับยูเครนและลุกลามข้ามประเทศนั้น อาจเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ประสงค์ร้ายซึ่งออกแบบมาเพื่อโจมตีระบบเครือข่ายในยูเครน แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ยังกังวลว่า รัสเซียอาจร่วมมือกับแก็งและผู้ปล่อยซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย เช่น มัลแวร์ที่เคยใช้ในการโจมตีระบบท่อส่งน้ำมันของบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ เพื่อเรียกค่าไถ่จากสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว