รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบาย EXIM BANK ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ช่วยธุรกิจไทยก้าวผ่านวิกฤต พร้อมสร้างผู้ส่งออกและ
นักลงทุนไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นำโดย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยกรรมการและผู้บริหารธนาคาร ในโอกาสเดินทางเยี่ยมชมกิจการลูกค้า EXIM BANK ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า EXIM BANK ดำเนินภารกิจได้ดีอยู่แล้ว และควรต้องขยายบทบาทมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นส่งออกและขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม ควบคู่กับการดำเนินภารกิจช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหา เพื่อเสริมกำลังกับภาครัฐในการประคับประคองภาคธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลกโดยรวม ขณะเดียวกัน EXIM BANK สามารถเสริมการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเวทีการประชุมหรือเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีภารกิจด้านต่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสอดคล้องกับทิศทางของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่เสมือนการ "กลืนยาพิษ" เพื่อรับความเสี่ยงที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ จึงพร้อมเข้าไปสนับสนุนกิจการที่มีความเสี่ยงในระยะต้น ก่อนจะส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป "กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่" โดยเข้าไปสนับสนุนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมสู่อนาคต และ "หนุนทุนไทยไปต่างแดน" ทั้งด้านการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ EXIM BANK จะทำหน้าที่ "ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง" การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และดำเนินงานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการให้ความรู้คู่เงินทุนแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนและสร้างผู้ส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำ โดย EXIM BANK ได้จับมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและส่งออกได้ อันเป็นที่มาของรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2563-2564 ที่ได้รับร่วมกันจากความสำเร็จในการผลักดันผู้ส่งออก SMEs ภาคเกษตรเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย มูลค่าส่งออกกว่า 1,040 ล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
"ซ่อม" อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหา อาทิ สายการบิน พาณิชยนาวี เพื่อให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์กลับ มาสร้างระบบนิเวศที่กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
"สร้าง" อุตสาหกรรมใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ EXIM BANK มีสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการ พัฒนาประเทศ (Development Portfolio) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของสินเชื่อรวม แบ่งเป็น
เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนไปแล้วเกือบ 200 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวม มูลค่าลงทุนรวมกว่า 3.7 แสนล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593
อุตสาหกรรมสู่อนาคต รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบโครงข่าย อุปกรณ์ทันตกรรมทดแทน และอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช
โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
"เสริม" อาวุธ SMEs สร้างนักรบทางเศรษฐกิจสู่เวทีโลก โดยให้คำปรึกษาแนะนำ บ่มเพาะ สินเชื่อ และบริการอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก และ Indirect Exporters สามารถผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้ โดยการส่งเสริมให้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก หรือแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ อาทิ EXIM Thailand Pavilion บน Alibaba.com ทั้งนี้ EXIM BANK มี SMEs Export Studio ดูแลตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเขียนเรื่องราวธุรกิจ การทำตลาดให้แก่ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
"สานพลัง" EXIM BANK ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจไทยและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจไทย ทั้งในกรอบของการดำเนินธุรกิจ กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ทีมประเทศไทยเดียวกัน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการ EXIM BANK นำโดย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้เยี่ยมชมกิจการลูกค้า EXIM BANK ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เสริมสร้าง BCG Economy 3 แห่ง ได้แก่
บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (AMITA) ในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร กำลังการผลิตขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อนำไปใช้เพิ่มเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ โดยลดมลพิษและภาวะโลกร้อน รวมทั้งป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการพัฒนา EEC โดยมีนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA และกรรมการ AMITA และนายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย R&D AMITA ให้การต้อนรับ ณ นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565
บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นสติกเกอร์กันยุงรายแรกของไทย ยี่ห้อ "Bug Guard" โดยผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติ 100% และต่อยอดมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสติกเกอร์หัวหอมบรรเทาหวัด คัดจมูก รายแรกของโลกที่ใช้สารจากธรรมชาติ 100% ยี่ห้อ "Happy Noz" ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และผู้สูงอายุ มียอดขายอันดับ 1 ในไทยและส่งออกในสัดส่วน 10% ไปยัง 18 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะตะวันออกกลาง โดยมีนางสาววันทณีย์ เสนาคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการบริษัท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565
บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (TEGH) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ยางพาราและปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในภาคตะวันออก และผู้ผลิตพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ โดยมีการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงนิเวศแบบครบวงจร มุ่งเน้นระบบ Bio-Circular-Green Economy และ Zero Waste Zero Discharge สามารถนำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คณะได้เข้าเยี่ยมชมกิจการบริษัท อี.คิว.รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยางแท่ง ซึ่ง EXIM BANK มีความร่วมมือกับบริษัทในการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางที่ป้อนวัตถุดิบให้โรงงานใช้วิธีการเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามหลักสากล FSC (Forest Stewardship Council) และโอกาสนี้ได้ร่วมทำกิจกรรม CSR ปลูกต้นยางนา ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถช่วยต่อยอดรายได้ของชุมชนท้องถิ่น โดยมีนายสมชาย โกกนุทาภรณ์ ประธานผู้ก่อตั้ง TEGH นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ กรรมการ TEGH และนางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ TEGH ให้การต้อนรับ ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565
"EXIM BANK พร้อมซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง พัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจในธนาคารของรัฐแห่งนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายเป็นที่หนึ่งทัดเทียมธนาคารเพื่อการพัฒนาชั้นนำระดับโลก ที่พึ่งภาครัฐ และที่รักประชาชนให้ได้โดยแท้จริง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยเราจะเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย ทำให้ความหวังประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียเมื่อราว 30 ปีก่อนกลับคืนมา ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศดาวรุ่งเนื้อหอม เป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้ได้ ด้วยสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างโลกสีเขียว และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ BCG" ดร.รักษ์ กล่าว.