ผู้เขียน หัวข้อ: Decrypto: Cryptocurrency อาวุธลับต่อกรมหาอำนาจ?  (อ่าน 398 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ PostDD

  • *
  • กระทู้: 929
  • Popular Vote : 0
Decrypto: Cryptocurrency อาวุธลับต่อกรมหาอำนาจ?
« เมื่อ: มีนาคม 09, 2022, 01:22:11 pm »
Decrypto: Cryptocurrency อาวุธลับต่อกรมหาอำนาจ?

จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในปัจจุบันระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่องมาตลอดสองสัปดาห์ เหล่าประเทศมหาอำนาจฝ่ายโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนแนวคิดแบบเสรีนิยม และเปรียบเสมือนพี่ใหญ่ทำหน้าที่วางระเบียบโลกมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษก็ไม่ได้อยู่เฉย กลับได้เข้ามามีบทบาทในการตอบโต้การกระทำดังกล่าวของรัสเซีย โดยกำหนดมาตราการมากมาย เช่น สนับสนุนจัดซื้อและส่งอาวุธให้ยูเครน ห้ามเครื่องบินรัสเซียเข้าน่านฟ้า แบนสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลรัสเซีย และการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย รัฐวิสาหกิจ และธนาคารบางแห่ง อายัดสินทรัพย์ของรัสเซียในต่างประเทศ

พร้อมห้ามค้าขาย นำเข้า-ส่งออกสินค้าต่าง ๆ รวมถึงกรณีการตัดธนาคารของรัสเซียออกจากโครงข่าย "SWIFT" ซึ่งเป็นระบบสื่อสารหลังบ้านของธนาคารนับหมื่น ๆ แห่งในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และล่าสุดกรณีที่ "VISA" และ "Master Card" ระงับการให้บริการในประเทศรัสเซีย อันเป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินและการธนาคารของรัสเซียเป็นอย่างมาก

แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัสเซียเองก็มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ โดยมีทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของประชาคมโลกมากมาย เช่น แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน แร่หายาก และข้าวสาลี ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป

นอกจากนี้ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังได้สร้างความกังวลให้กับบรรดาเจ้าหนี้ของรัสเซียว่าอาจจะทำให้ไม่ได้รับชำระหนี้ รวมถึงได้สร้างผลกระทบต่อโครงการการลงทุนระหว่างประเทศ "Mega Projects" ต่าง ๆ ในเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative) ในรัสเซียอีกมากมายหลายโครงการ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ายังคงมีหลายฝ่ายที่อยากดำเนินการทางการค้าการลงทุนกับรัสเซียอยู่

มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินสมัยเก่าซึ่งเป็นระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่การดำเนินการทางการเงินต่าง ๆ ต้องอาศัยตัวกลาง เช่น ธนาคาร สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ โดยเมื่อเป็นเรื่องการดำเนินการทางการเงินระหว่างประเทศแล้ว ระบบ "SWIFT" ก็จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก

โดยระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) หรือ สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก เป็นระบบที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งข้อมูลการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของธนาคารระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก เช่น การรับส่งข้อมูลคำสั่งซื้อ การทำการค้า การยืนยันการชำระเงิน และการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ณ ปัจจุบันมีสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่ง ใช้บริการชำระเงินผ่านระบบ "SWIFT" ครอบคลุมการใช้งานกว่า 200 ประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินการของ "SWIFT" จะถูกกำกับดูแลและควบคุมโดยคนกลาง ได้แก่ ธนาคารแห่งชาติของเบลเยียม และตัวแทนจากระบบธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารแห่งอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และธนาคารกลางรายใหญ่อื่น ๆ

การตัดธนาคารของรัสเซียออกจากโครงข่าย "SWIFT" จึงเป็นตัวอย่างศึกษาที่ดีต่อกรณีประเทศมหาอำนาจสามารถเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงินที่ดำเนินการผ่านคนกลางได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะแตกต่างจากการระบบการเงินสมัยใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยี "Blockchain" เข้ามาใช้ภายใต้การกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนกลางอีกต่อไป

โดยการโอน Cryptocurrency ไม่ต้องข้องเกี่ยวหรือดำเนินการผ่านธนาคาร ที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในระดับระหว่างประเทศว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตร และการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) ที่สถานะภาพทางกฎหมายและเครดิตของผู้ทำธุรกรรม กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้บนโลกไร้ตัวกลาง อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมหรือให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายท่านมองว่า ทั้ง Cryptocurrency และ DeFi อาจเป็นสิ่งที่จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้เกมส์การถูกคว่ำบาตรโดยเหล่าประเทศมหาอำนาจได้

บทบาทของ Cryptocurrency และ DeFi ที่มีความสำคัญมากขึ้นภายใต้สภาวะสงครามที่ต้องการความคล่องตัวทางการเงินสูง ได้ถูกสะท้อนให้เห็นจากการที่ยูเครนได้เปิดรับบริจาค Cryptocurrency สกุลต่าง ๆ รวมถึงรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนเองก็เริ่มพิจารณาใช้ Cryptocurrency และเป็นเครื่องมือในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การถูกคว่ำบาตรจากระบบ SWIFT ที่เกิดขึ้น

กรณีจึงเห็นได้ว่าบทบาทความเป็นกลางของ Cryptocurrency และระบบการเงินแบบ Decentralized ที่เด่นชัดขึ้น ได้เข้ามาบั่นทอนการควบคุมระบบการเงินโดยภาครัฐและประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จนผู้เชี่ยวชาญทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลต่างมองว่า Cryptocurrency อาจกลายเป็นอาวุธลับเพื่อใช้ต่อกรประเทศมหาอำนาจได้เลยทีเดียว

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ