ผู้เขียน หัวข้อ: CEO Talk: วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก ส่งออกขมิ้นชันไทย  (อ่าน 336 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ luktan1479

  • *
  • กระทู้: 1,132
  • Popular Vote : 0
CEO Talk: วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก ส่งออกขมิ้นชันไทยด้วยความสุขในอ้อมกอดของขุนเขา

ประเทศไทยใช้พืชสมุนไพรเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรคมาแต่โบราณ ปัจจุบันสมุนไพรไทยได้เพิ่มบทบาทสู่การแพทย์ทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งกระแสรักสุขภาพทำให้สมุนไพรไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก คุณจอน เสาวลักษณ์ มณีทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด และผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก เผยแนวคิดการพัฒนาต่อยอดพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ
ตนเองเติบโตในครอบครัวเกษตรกร มีโอกาสเรียนและทำงานในเมืองหลวง แต่ทุกครั้งที่กลับบ้านเกิด จะได้พบเห็นว่า เกษตรกรไทยยังลำบาก กลุ่มแม่บ้านไม่มีงานทำ จึงอยากนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้สร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ มีเอกลักษณ์ มีนวัตกรรม มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชสมุนไพรที่ใกล้สูญพันธุ์ สร้างป่าให้ชุมชนนำมาซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมนไพรปลูกรักจึงเกิดขึ้น เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์ (Organic) โดยมีเป้าหมายคือ ?เป็นความสุขของเกษตรกรในอ้อมกอดของขุนเขา?

แนวคิดและหลักการในการทำธุรกิจ
นับตั้งแต่ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรปลูกรัก เมื่อปี 2557 ขณะนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 300 ราย สิ่งที่เรายึดถือมาตลอดคือ ?การแบ่งปัน? นั่นคือ การอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศที่เกื้อกูลและให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิด 3 ดี ดีต่อเรา คือ สุขภาพดีเพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์ ดีต่อเขา คือ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อผู้บริโภคหรือคนรอบข้าง และสุดท้าย ดีต่อโลก คือ การอยู่อย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดแข็งหรือกุญแจแห่งความสำเร็จ
จากการพัฒนากระบวนการเพาะปลูก ตลอดจนการแปรรูปสมุนไพรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก เช่น ขมิ้นชันผง ในนาม ?ปันแสน? ได้รับมาตรฐาน USDA Organic ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐฯ ที่ออกให้กับสินค้า Organic ตามมาตรฐาน USDA คือ วัตถุดิบที่นำมาใช้จะต้องเป็นพืชที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี พืชที่ปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์ รางวัลนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับ ทำให้ผลิตภัณฑ์ ?ปันแสน? เป็นที่รู้จักของผู้ซื้อในต่างประเทศ

วิกฤต COVID-19 และการรับมือ
การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาได้ ถึงแม้ว่ายอดขายผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรจากหัวปลีเพิ่มน้ำนมแม่จะลดลงไปอย่างน่าใจหายถึงประมาณ 80% จากปกติมียอดจำหน่ายอย่างน้อยเดือนละ 3-4 แสนบาท กลายเป็นไม่ถึงหลักแสน แต่ในขณะเดียวกันกระแสรักสุขภาพและความนิยมในสมุนไพรไทย ก็ทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรขมิ้นชัน ขิง และกระชายเติบโตสูงมาก จากปกติขมิ้นชันมียอดขาย 2-3 ล้านบาทต่อปี แต่ในปีนี้ขึ้นมาเป็น 7-8 ล้านบาท และยังมีโอกาสทำสัญญากับลูกค้าเป็นการค้าขายระยะยาวมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

การบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ
ครั้งแรกที่ได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่นึกถึง เนื่องจากเคยมีโอกาสเข้าร่วมโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ภายใต้แนวคิด ?เกษตรเพื่อส่งออก? ที่ EXIM BANK ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จึงขอรับคำปรึกษาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) เพื่อขอคำแนะนำเรื่องแนวทางการค้าระหว่างประเทศ กระบวนการและวิธีการส่งออก การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินจากผู้ซื้อ ทำให้มั่นใจในการเจรจาซื้อขายและเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

ฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
ถึงแม้ว่าในการเริ่มต้นผู้ประกอบการจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการส่งออกเลย แต่หากเตรียมตัวเราเองให้ดีที่สุด เช่น เตรียมความพร้อมคุณภาพสินค้า ศึกษาหาความรู้ ควบคู่กับการมีที่ปรึกษาที่ดี เช่น EXIM BANK และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายเพื่อนนักธุรกิจส่งออก ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องใดหากมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านให้คำปรึกษา จะทำให้การส่งออกไม่ใช่เรื่องยากเลย

การสนับสนุนของ EXIM BANK
ต้องขอบคุณ EXIM BANK โดยเฉพาะ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นอย่างมาก นอกจากการสนับสนุนความรู้ การเงิน และประกันความเสี่ยง ดร.รักษ์ ยังได้ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ และแนะนำแนวทางพัฒนาธุรกิจด้วยตำราพิชัยสงคราม ?ดิน น้ำ ลม ไฟ? กล่าวคือ การเป็นผู้ประกอบการสิ่งสำคัญคือ การสร้างฐานรากธุรกิจให้มั่นคงดั่งผืนดิน ปรับตัวให้เข้ากับตลาดดั่งสายน้ำที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม เข้าถึงลูกค้าให้ไวดั่งสายลม และสร้างแบรนด์ให้ปัง ให้ดังและร้อนแรงดั่งไฟ ต้องวางแผนธุรกิจที่รอบคอบและต้องมีแผนสำรอง หรือ Plan B เสมอ ซึ่งเป็นหลักการง่าย ๆ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจวิสาหกิจชุมชนก็สามารถโตได้ในระดับโลก

?จากที่เคยฝันไว้ว่า ถ้าประสบความสำเร็จในการสร้างป่าแห่งอาหารที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ขุนเขา และจะปักธงชัยบนภูเขาแห่งบ้านเกิด จากความฝันอันเลือนลางในวันนั้น ถึงวันนี้ที่สามารถนำสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกได้ ดร.รักษ์ สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากปักธงชัยบนภูเขาโลกแล้วจริง ๆ และอยากพาคุณค่าสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยความภาคภูมิใจของเกษตรกรในอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก?

เป้าหมายหรือแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต
เราจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เพิ่มยอดขายควบคู่กับพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรได้อิ่มท้อง อิ่มใจ และร่วมกันสร้างป่าอาหารที่สมบูรณ์ไปด้วยความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการสร้างวิสาหกิจชุมชน

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565