ผู้เขียน หัวข้อ: ฟิทช์ คงอันดับเครดิตในประเทศ-หุ้นกู้ SCCC ที่ A(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ  (อ่าน 325 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ailie662

  • *
  • กระทู้: 817
  • Popular Vote : 0
ฟิทช์ คงอันดับเครดิตในประเทศ-หุ้นกู้ SCCC ที่ A(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ที่ ?A(tha)? อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ?A(tha)? และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ ที่ ?F1(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCCC ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำในระดับภูมิภาค ซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศที่เป็นตลาดหลัก แต่มีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็ก โดย SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยและเวียดนามตอนใต้ และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow, FCF) เป็นบวก แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มสูงขึ้น และเผชิญความกดดันจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในระยะสั้นนี้

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การฟื้นตัวของ EBITDA อย่างค่อยเป็นค่อยไป ? ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะคงอยู่ในระดับเดิมที่ 7.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565 เนื่องจากมีแรงกดดันทางด้านต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566 เมื่อต้นทุนการผลิตลดลงประกอบกับความต้องการซื้อสินค้าปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์ประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้ของ SCCC อยู่ที่ร้อยละ 6-8 ต่อปีในช่วงสองปีข้างหน้า โดยเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดจากมาตรการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในแต่ละประเทศจะลดลงหลังจากที่อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น ฟิทช์คาดว่า ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA margin) จะยังคงถูกกดดันให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 17 ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 ในปี 2566 (ร้อยละ 18 ในปี 2564 และร้อยละ 22 ในปี 2563)
ฟิทช์เชื่อว่าอัตรากำไรของ SCCC จะยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งในด้านราคาและปริมาณสำหรับวัตถุดิบหลัก การบริหารต้นทุนคงที่ การลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ด และการใช้พลังงานทดแทน

การฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด ? กระแสเงินสดส่วนใหญ่ของ SCCC มาจากประเทศไทย ในขณะที่สัดส่วน EBITDA จากประเทศเวียดนามและศรีลังกาคิดเป็นร้อยละ 16 และ 14 ของ EBITDA รวมในปี 2564 ตามลำดับ ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการในประเทศไทยจะยังคงเปราะบางจากกิจกรรมการก่อสร้างภาคเอกชนที่ยังคงจำกัด โดยความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศยังต้องพึ่งพิงการลงทุนภาครัฐเป็นหลักในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อสะสมในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศเวียดนามน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของกระแสเงินสดของบริษัทฯ เนื่องจากประเทศเวียดนามได้ยกเลิกมาตรการ Zero-COVID 19
ในประเทศศรีลังกา SCCC มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเป็นผู้รับประโยชน์จากความต้องการซื้อปูนซีเมนต์ที่ผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญสภาวะขาดแคลนปูนซีเมนต์นำเข้าและสถานะการเงินระหว่างประเทศที่อ่อนแอ ฟิทช์เห็นว่าความเสี่ยงที่ประเทศศรีลังกาจะออกมาตรการห้ามนำเข้าปูนเม็ดในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปูนเม็ดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อกิจกรรมการก่อสร้างภายในประเทศ

ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน ? EBITDA margin ของ SCCC มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ฟิทช์คาดว่า ราคาถ่านหินจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2565 จากการเสียสมดุลของอุปสงค์-อุปทานในตลาด ถึงแม้ว่าระดับราคาโดยเฉลี่ยอาจจะลดลงจากปี 2564 ก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประมาณร้อยละ 50-60 ของปริมาณการใช้ถ่านหินที่คาดว่าจะต้องใช้ทั้งหมดในปี 2565 โดยร้อยละ 30-40 เป็นการกำหนดราคาล่วงหน้ากับผู้ขาย
อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลง ? ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน โดยพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (net debt / EBITDA) ของ SCCC จะคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ประมาณร้อยละ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2565 เป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านต้นทุนพลังงาน ในขณะที่การฟื้นตัวของความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2566 และประมาณ 1.0 เท่า ณ สิ้นปี 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดสุทธิที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ SCCC ยังคงมีความสามารถที่จะรองรับแผนการใช้จ่ายลงทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากที่ฟิทช์ประมาณการ โดยที่ยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ แผนการลงทุนเพิ่มเติมที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย แผนการลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ดในกระบวนการผลิต และการขยายกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้ฟิทช์ไม่ได้พิจารณารวมเข้ามาในประมาณการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ
สถานะทางการตลาดและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ ? SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดและมีการแข่งขันภายในประเทศที่รุนแรงขึ้น ด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ SCCC ยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามตอนใต้ โดยรายได้จากต่างประเทศ (รวมรายได้จากการส่งออก) คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2564
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCCC มีสถานะทางธุรกิจที่ด้อยกว่า บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (อันดับเครดิตปัจจุบัน ?A+(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจาก SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCC ส่งผลให้ SCC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ แม้ว่า SCCC จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า

SCCC มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท โกล. เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย

SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP และ GPSC เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อจากลูกค้ามีความสม่ำเสมอมากกว่า และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า SCCC ดังนั้น SCGP จึงสามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน GPSC มีการอัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นมากหลังจากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCCC หนึ่งอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3-8 ต่อปี ในปี 2565-2567 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการปรับขึ้นราคาขายและการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในทุกประเทศ (2564: ลดลงร้อยละ 1)
EBITDA margin ลดลงจากระดับที่สูงในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ ร้อยละ 17-19 ในปี 2565-2567 จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายลงทุนรวม 5.5 พันล้านบาท ในปี 2565-2567
อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 75-85
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก: ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก SCCC มีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

ปัจจัยลบ: การที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการมีค่าใช้จ่ายลงทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในระดับสูง รวมถึงการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ส่งผลให้ net debt / EBITDA อยู่ในระดับสูงกว่า 2.3 เท่า อย่างต่อเนื่อง (2564: 2.1 เท่า) หรือ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า (2564: 2.3 เท่า) อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นับจาก สิ้นปี 2564 จำนวน 1.0 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้ภายใต้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ใช้สำหรับบริหารเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 3.0 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวจำนวน 7.0 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระคืนเมื่อครบกำหนดแล้วในเดือน กุมภาพันธ์ 2565 สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 9.7 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จำนวน 9.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีประวัติในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทฯ มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ SCCC ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา และผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย และเวียดนามตอนใต้ โดยมีกำลังการผลิตรวม 25.3 ล้านตันต่อปี บริษัทฯ มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 7.0-9.0 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2562-2564 นอกจากนี้ SCCC ยังมีหุ้นร้อยละ 40 ในกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2.1 ล้านตันต่อปี