ผู้เขียน หัวข้อ: เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: นโยบาย Cryptocurrency ของต่างประเทศ  (อ่าน 412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: นโยบาย Cryptocurrency ของต่างประเทศ...รู้ไว้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต

ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนหรือที่เรียกว่าคริปโต (Cryptocurrency) กำลังอยู่ในกระแสสังคมในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีแนวโน้มราคาร้อนแรง โดยคริปโตหลายสกุลมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ราคาของ Bitcoin ที่พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3-6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากราว 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญในปี 2563 ทั้งนี้ บทบาทของคริปโตในปัจจุบันแบ่งได้ 2 ด้าน คือ การเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลและการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยบทบาทของคริปโตในการเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการยังมีจำกัดอยู่แค่ในบางประเทศเท่านั้น เนื่องจากราคาคริปโตส่วนใหญ่ผันผวนสูง หลายประเทศจึงหลีกเลี่ยงการเปิดให้ใช้คริปโตเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า อีกทั้งยังมีช่องว่างในการใช้คริปโตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การทำความรู้จักและทำความเข้าใจคริปโตให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยสำหรับผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากคริปโตมีโอกาสจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นในระยะต่อจากนี้

ทำความรู้จักสกุลเงินคริปโตที่น่าสนใจ
สถิติจาก Statista.com ในเดือน ก.พ. 2565 แสดงให้เห็นว่าคริปโตที่เกิดขึ้นในโลกมีมากถึง 10,397 สกุล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 4,501 สกุล ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งหากพิจารณามูลค่าตลาด (Market Capitalization) คริปโตสำคัญของโลก พบว่า Bitcoin มี Market Cap สูงที่สุดในโลก สำหรับคริปโตที่มีมูลค่าตลาดสูงอันดับต้น ๆ ของโลกที่น่าสนใจ มีดังนี้

Bitcoin เป็นคริปโตที่เกิดขึ้นในฐานะสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก ทำให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความเชื่อมั่นมากจนมี Market Cap สูงที่สุดในบรรดาสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ

ETH เป็นคริปโตที่อยู่บน Blockchain ของ Ethereum ซึ่งเป็น Blockchain แบบ Open-Source (Blockchain ที่เปิด Source Code หรือคำสั่งในการเขียนโปรแกรม ให้นักพัฒนาใช้ในการพัฒนาต่อยอดได้) รายแรก ๆ และได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ส่งผลให้ Ethereum ได้รับความเชื่อถือ และปัจจุบันถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของโลก

BNB เป็นคริปโตที่พัฒนาโดย Binance Exchange ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจากการที่ BNB สามารถใช้ชำระค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบน Binance Exchange จึงทำให้สกุลเงิน BNB มีการใช้งานจริงและเป็นหนึ่งในคริปโตที่ได้รับความนิยมในวงกว้างตามจำนวนนักลงทุนในตลาดคริปโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Solana ถูกพัฒนาโดยมูลนิธิ Solona ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2560 เป็นคริปโตที่ทำงานบน Blockchain ที่มีประสิทธิภาพด้านความเร็ว โดยสามารถแลกเปลี่ยนเงินด้วยความเร็วสูงถึง 65,000 tps (Transactions per Second) Solona จึงเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่โดดเด่นด้านความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

XRP เป็นคริปโตที่ถูกพัฒนาบน Blockchain ของบริษัท Ripple โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้ในธุรกรรมโอนเงิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์บางแห่งของไทยได้มีการร่วมมือกับ Ripple ในการใช้แพลตฟอร์ม Blockchain เพื่อขยายประสิทธิภาพบริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

แนวนโยบายของประเทศต่าง ๆ ต่อสกุลเงินคริปโต
แต่ละประเทศมีมุมมองต่อการใช้คริปโตที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายในปัจจุบันได้ 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มนโยบายเอื้อต่อธุรกรรมคริปโต
นโยบายของประเทศกลุ่มนี้ค่อนข้างเอื้อต่อธุรกรรมคริปโต โดยเฉพาะการซื้อขายและลงทุนในคริปโต โดยส่วนใหญ่มีกฎหมายรองรับธุรกรรมคริปโตโดยเฉพาะ ขณะที่การเก็บภาษีธุรกรรมคริปโตมักอยู่ในระดับต่ำหรือไม่มีการเก็บภาษีเลย และบางประเทศลดอัตราภาษีต่ำลงสำหรับการลงทุนระยะยาวในคริปโตเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไร ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วยสหรัฐฯ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สิงคโปร์ และมอลตา

กลุ่มนโยบายไม่ชัดเจน
ประเทศในกลุ่มนี้ยังไม่มีนโยบายห้ามหรือสนับสนุนการซื้อขายและลงทุนคริปโตอย่างชัดเจน โดยในบางประเทศอาจมีการเก็บภาษีการทำธุรกรรมสกุลเงินคริปโตเพื่อเป็นการชะลอความร้อนแรง และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเก็งกำไร ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ของโลก รวมถึงไทย จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยปัจจุบันไทยอนุญาตให้มีการค้าและการลงทุนคริปโต แต่ก็เตรียมที่จะเก็บภาษีในธุรกรรมดังกล่าว

กลุ่มนโยบายไม่สนับสนุนธุรกรรมคริปโต
ประเทศในกลุ่มนี้มีนโยบายที่ชัดเจนในการห้ามใช้และห้ามซื้อขายคริปโต โดยตัวอย่างประเทศดังกล่าว ได้แก่ จีน กาตาร์ บังกลาเทศ อียิปต์ และโอมาน โดยกรณีของจีน ในปี 2564 ทางการจีนประกาศห้ามการทำธุรกรรมคริปโตและการขุดคริปโตทั้งหมด เนื่องจากมองว่าธุรกรรมคริปโตอยู่บนระบบที่รัฐบาลจีนไม่สามารถควบคุมได้ ตลอดจนต้องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการขุดเหมืองคริปโต ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังหันมาส่งเสริมสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง หรือ e-CNY เพื่อใช้สกุลเงินดิจิทัลของตนเป็นหลัก

นโยบายของประเทศในอาเซียน
ภาพรวมนโยบายของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ อนุญาตให้มีการซื้อขายและลงทุนคริปโต แต่ยังไม่ได้ยอมรับคริปโตในฐานะสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศ โดยสิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายเอื้อต่อคริปโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกมารองรับ ไปจนถึงข้อได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศที่เหลือยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับคริปโตที่ชัดเจน ทั้งนี้ หลายประเทศมีความพยายามในการพัฒนาเงินดิจิทัลของตนเอง หรือ CBDC (Central Bank Digital Currency) โดยฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และอินโดนีเซีย อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ส่วนกัมพูชาอยู่ระหว่างการพัฒนา สำหรับไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย อยู่ระหว่างทดลองใช้ในโครงการนำร่อง

อนาคตของคริปโตที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง
แม้บทบาทของคริปโตในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะยังต้องการเวลาในการพิสูจน์ เนื่องจากหลายประเทศยังไม่สนับสนุนการใช้คริปโตแทนเงินในการซื้อขายสินค้า อย่างไรก็ตาม โลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้คริปโตเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวโน้มอนาคตคริปโตที่ควรจับตามอง มีดังนี้

โลกเสมือนจริงจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันความต้องการใช้คริปโตในระยะข้างหน้า โลกเสมือนจริงที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมออนไลน์ที่พัฒนาบน Blockchain เช่นเดียวกับกระแสความนิยมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT* (Non-Fungible Token) และสุดท้ายแนวโน้มการพัฒนาโลก Metaverse ในอนาคต ล้วนส่งผลให้เกิดความต้องการใช้คริปโตเพิ่มมากขึ้น
หมายเหตุ : * สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างบน Blockchain ทำให้สินทรัพย์มีตัวตนเพียงหนึ่งเดียวในโลกและปลอดภัยจากการลอกเลียนแบบ ตัวอย่างของ NFT ได้แก่ ไอเทมของเกม และงานศิลปะ ที่สร้างขึ้นบน Blockchain

ความปลอดภัยและความรวดเร็วของเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้คริปโตเข้ามามีส่วนในโลกการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น แต่คริปโตที่จะมีบทบาทในการเป็นตัวกลางการโอนเงินระหว่างประเทศคาดว่าจะเป็นคริปโตประเภทที่เป็น Stablecoin (คริปโตที่ Peg มูลค่าไว้กับสกุลเงินปกติ อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสินทรัพย์อื่นรองรับ) เนื่องจากมูลค่าของคริปโตที่เป็น Stablecoin ผันผวนต่ำกว่าคริปโตทั่วไป
ในอนาคตผู้ประกอบการไทยอาจจำเป็นต้องมีหน้าร้านจำหน่ายสินค้าและบริการอยู่บน Metaverse และเสนอราคาจำหน่ายสินค้าในสกุลคริปโต หรือผู้ผลิตสินค้าบางรายอาจต้องใช้บริการโอนเงินค่าวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศด้วยคริปโตซึ่งมีความรวดเร็วและปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการบางรายในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) อาจผลิตและจำหน่ายผลงาน NFT อาทิ งานศิลปะ และงานเพลง ซึ่งอาจมีการใช้คริปโตเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า ดังนั้น คริปโตที่ดูเหมือนไกลตัวจะเขยิบเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษา เพื่อไม่ให้ตกขบวนโลกอนาคต

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565