ผู้เขียน หัวข้อ: นายกฯ สั่งบริหารพลังงานช่วยผู้มีรายได้น้อย-พาณิชย์คุมราคาสินค้าอุปโภค  (อ่าน 368 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
นายกฯ สั่งบริหารพลังงานช่วยผู้มีรายได้น้อย-พาณิชย์คุมราคาสินค้าอุปโภค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า สิ่งสำคัญวันนี้เราจะแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสู้รบอย่างไร ซึ่งต้องมีการเตรียมหลายมาตรการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่เริ่มได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการดูแลเรื่องนี้ไปแล้วพอสมควรเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำขอความร่วมมือจากประชาชนในการใช้พลังงานอย่างประหยัดเปิด-ปิดไฟเป็นเวลา รวมถึงการใช้รถยนต์ โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการห้ามใช้รถยนต์ แต่ขอให้ลดลงและใช้เฉพาะตามความจำเป็น รวมทั้งให้ล้างทำความสะอาดแอร์ ปรับรูปแบบการทำงานเป็น WFH บ้าง ซึ่งมาตรการทั้งหมดเป็นการช่วยเหลือเพื่อลดค่าใช้จ่ายของตัวเองลง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ส่วนที่เหลือก็ต้องหามาตรการมาดูแลตรงนี้ ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมันดีเซล รัฐบาลก็ใช้งบประมาณวันละ 600 ล้านบาท เข้ามาดูแล และหากราคาน้ำมันเพิ่มไปแบบนี้ทุกวันจะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ ถ้ายังต้องใช้วิธีการแบบนี้

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้เตรียมความพร้อมจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟ ราคาน้ำมัน ซึ่งสถานการณ์พลังงานสูงขึ้นเป็นรายวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก โดยได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารพลังงานอย่างเหมาะสม ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และให้กระทรวงพาณิชย์ ดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลกระทบโดยตรง

นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้รณรงค์การประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรการไม่มีค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติ ให้ส่วนราชการลดใช้พลังงาน 20% ลดการใช้น้ำมัน 10% รวมทั้งหาวิธีประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ เช่น การส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (WFH)

ส่วนมาตรการเพื่อบรรเทาภาระประชาชนนั้น นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพิจารณา ซึ่งการควบคุมราคาสินค้าเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ และรัฐบาลก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามงบประมาณที่มีอยู่

ส่วนงบประมาณหรือพ.ร.ก.กู้เงิน ยังมีเพียงพอหรือไม่ หรือมีความจำเป็นจะกู้เพิ่มหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังต้องพิจารณาต่อไปหากสถานการณ์ยืดเยื้อ แต่ส่วนที่กู้มาแล้วนำไปใช้อย่างไรทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว