ผู้เขียน หัวข้อ: BA คาดปี 65 ขาดทุนลดลงก่อนพลิกกำไรปี 66 ตามแนวโน้มรายได้สายการบินทยอยฟื้น  (อ่าน 373 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
BA คาดปี 65 ขาดทุนลดลงก่อนพลิกกำไรปี 66 ตามแนวโน้มรายได้สายการบินทยอยฟื้น

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส คาดว่า ในปี 65 บริษัทจะยังคงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่จะขาดทุนลดลงต่อเนื่องจากปี 64 ที่ขาดทุนดำเนินงาน 2,532 ล้านบาท และปี 63 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากสายการบินไว้ที่ 8,175 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 1,200 ล้านบาทในปี 64 ซึ่งถือเป็นปีที่สายการบินเผชิญความยากลำบากจากผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ในปี 65 มองว่าธุรกิจสายการบินจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนผู้โดยสารต่างประเทศเข้ามาไม่น้อยกว่า 30-40% และจะมีรายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศมากกว่า 40% ของรายได้รวม ซึ่งบริษัทจะโฟกัสไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลาง

"ปีนี้ขาดทุนการดำเนินงานลดลง ก็พยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้น้อยลงไปอีก"นายอนวัช กล่าว
ในปีนี้มีปัจจัยบวก 2-3 ประการ ได้แก่ การติดเชื้อโควิดแม้ยังมีอยู่แต่ความรุนแรงน้อยลง ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มจากที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากเส้นทางในประเทศ และมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดภาระภาคเอกชน เช่น ลดค่าเช่า ส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ รวมถึงการไม่แข่งขันราคากัน เพราะหากแข่งขันกันจะทำให้สายการบินไม่สามารถอยู่รอดได้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA คาดว่า กว่าที่ธุรกิจการบินจะกลับมาเท่าปี 62 หรือก่อนเกิดโควิดที่มีผู้โดยสาร 5.8 ล้านคนน่าจะเป็นปลายปี 66 หรือ ปี 67 สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO และ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

BA คาดว่าในปี 65 ธุรกิจการบินจะฟื้นขึ้นมา 40% และในปี 66 จะฟื้นตัวกลับมามากขึ้นเป็น 80-90% และจะกลับไปเต็ม 100% ในปี 67 หรือคาดว่ากลับมาบินได้ตามปกติ ดังนั้น ในปี 66 คาดว่า BA น่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรจากการดำเนินงาน

สำหรับปีนี้ BA ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 3.4 หมื่นเที่ยวบิน อัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ที่ 65% ราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ย 3,100 บาท/เส้นทาง โดยมีแผนจะคืนเครื่องบินเช่า 5 ลำ และขายออก 2 ลำ ทำให้สิ้นปี 65 มีฝูงบิน 30 ลำ โดยปัจจุบันใช้ทำการบิน 19 ลำ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในปี 65 จะทยอยกลับมาเปิดบริการเส้นทางเดิมมากขึ้น โดยในวันที่ 27 มี.ค.จะเปิดบินเส้นทางกรุงเทพ-กระบี่ และไตรมาส 3/65 จะเปิดเส้นทางต่างประเทศมากขึ้น อาทิ กรงุเทพ-เสียมเรียบ, กรุงเทพ-ดานัง, กรุงเทพ-หลวงพระบาง, กรุงเทพ-ย่างกุ้ง และ กรุงเทพ-มัลดีฟ

นายอนวัช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่บริษัทได้รับกระทบจากโควิดมานาน 2 ปี การดำรงสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญมาก บริษัทได้จัดหาวงเงินกู้กว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งได้เบิกใช้บ้างแล้ว ทำให้ยังมีสภาพคล่องพอใช้ในการดำเนินงาน แต่ก็ยังเตรียมจัดหาเพิ่มเติม ขณะที่ธุรกิจการบินก็ค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/64

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวพุ่งขึ้นสูงนั้น นายอนวัช กล่าวว่า เนื่องจากปี 64 บริษัททำการบินน้อยลง ทำให้ต้นทุนน้ำมันไม่สูงมาก คิดเป็น 10% ของต้นทุนรวม เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่อยู่ในสัดส่วน 30-35% โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ค่าเช่าเครื่องบิน คิดเป็นสัดส่วน 25% ค่าใช้จ่ายพนักงานน้อยกว่า 25% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างไรก็ดี เมื่อในปีนี้ทำการบินมากขึ้นก็จะทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันปรับขึ้นมาที่ 15%

และจากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดย BA มีผู้โดยสารรัสเซียประมาณ 1-2%

นายจุลิน กอเจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด BA กล่าวว่าการร่วมมือกับ Bitkub ที่จะออกเหรียญดิจิทัลมาใช้ชำระสินค้าและบริการนั้น ขณะนี้อยุ่ระหว่างทบทวนแผนธุรกิจ เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินคริปโตแลกซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ

*โครงการพัฒนาอู่ตะเภาชะลอ

นายอนวัช กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้บริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ยังไม่ได้รับหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) จากภาครัฐจากที่ระบุว่าต้นปี 65 จะเริ่มงานได้ เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากในปีก่อนทำให้การเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างทำได้ยาก และมีมาตรการห้ามเดินทางระหว่างประเทศทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศไม่สามารถเดินทางร่วมวางแผนและเขียบแบบงานได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็รับทราบและเข้าใจ

อย่างไรก็ดี UTA ก็ต้องเตรียมการให้พร้อมหากรัฐเร่งดำเนินการ นอกจากนี้จากการระบาดของโควิดทำให้สภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงก็อาจจะต้องปรับแผน และปรับขนาดการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด

"อาจจะต้องปรับแผนการก่อสร้างย่อมลงมา ก็ต้องคุยกับภาครัฐ ถ้าประมาณการการเดินทาง การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนไป ในระยะแรกจะดำเนินการอย่างไรดี "นายอนวัช กล่าว
อนึ่ง ในเฟสแรก UTA จะสร้างอาคารผู้โดยสารรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน มูลค่าการลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ UTA ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีบีเอส (BBS) ประกอบด้วย BA ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) 20%