ผู้เขียน หัวข้อ: ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.พ.ลดทุกภูมิภาค กังวลโอมิครอน, ปัญหารัสเซีย-ยูเครน  (อ่าน 377 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.พ.ลดทุกภูมิภาค กังวลโอมิครอน, ปัญหารัสเซีย-ยูเครน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนก.พ. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 21-25 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 36.1 ลดลงจากระดับ 37.2 ในเดือน ม.ค. 65

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.4 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 36.6
ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.2 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 38.2
ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.7 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 40.9
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.2 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 37.1
ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.5 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 36.5
ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 33.9 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 35.0
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดลงในทุกภาค โดยจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน เนื่องจากมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ภาคตะวันออก และภาคใต้

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.พ.65 มีดังนี้

ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

3. ราคาสินค้าในบางรายการ โดยเฉพาะวัตถุดิบมีระดับราคาที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ และกำลังซื้อสินค้าของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ

4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

5. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

6. การปรับนโยบายและแนวทางการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน

ปัจจัยบวก ได้แก่
1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผย GDP ไตรมาส 4/64 ขยายตัว 1.9% จากการลดลง 0.2% ในไตรมาส 3/64

2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และโอมิครอนสร้างผลกระทบสาธารณสุขในวงจำกัด ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยลดลง

3. มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เป็นต้น

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

5. การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 7.98% มูลค่า 21,258.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

7. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลงที่ 0.80 บาทต่อลิตร

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีดังนี้

1. หาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน

2. หาแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

4. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติ

5. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค

6. มาตรการการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยควรจะเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ทั้งโครงการ EEC และโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง