ธนาคารโลกเตือนเงินเฟ้อจากสงครามยูเครนอาจจุดชนวนประท้วง-เหตุจลาจล
นางคาร์เมน ไรน์ฮาร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกออกโรงเตือนว่า ราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจากผลพวงของการรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจเพิ่มความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารในตะวันออกกลางและแอฟริกาและอาจกระตุ้นให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเพิ่มมากขึ้น
"ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่ความไม่มั่นคงทางอาหารถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ประชาชนลุกฮือจนกลายเป็นการประท้วงแบบเหตุการณ์อาหรับ สปริง (Arab Spring)" นางไรน์ฮาร์ตกล่าว พร้อมเสริมว่า เกิดการรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เพิ่มมากขึ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อาหรับ สปริงคือการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยและการก่อปฏิวัติที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือตั้งแต่ปี 2553 โดยเปิดฉากขึ้นในประเทศตูนิเซีย ก่อนจะลุกลามไปยังอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ลิเบีย, อียิปต์, เยเมน, ซีเรียและบาห์เรน
ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนสามารถนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบในสังคมเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2550 ? 2551 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาอาหารแพงขึ้นทั่วโลกจนนำไปสู่เหตุจลาจลในกว่า 40 ประเทศ
ทั้งนี้ เยอรมนีจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติหรือ G7 ผ่านทางระบบออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.นี้ เพื่อหารือถึงผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก และวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างเสถียรภาพในตลาดอาหาร