ผู้เขียน หัวข้อ: ไทย-เยอรมนี ขับเคลื่อนกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดปัญหาโลกร้อน  (อ่าน 476 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • *
  • กระทู้: 1,059
  • Popular Vote : 0
ไทย-เยอรมนี ขับเคลื่อนกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดปัญหาโลกร้อน

(จากซ้าย) ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจประจำสถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมสัมมนากลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "Thailand Climate Finance Conference: From International to Domestic Mechanism" เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินและการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับความท้าทาย ช่องว่างและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำรวมทั้งความต้องการขอรับการสนับสนุนในการพัฒนาและการลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงลึก

การประชุมครั้งนี้ เปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดยในช่วงการเสวนาได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.) ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระกว่า 200 คน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษและเน้นย้ำว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสและช่องว่างสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสร้างงานจากเศรษฐกิจสีเขียวอีกมาก ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EVs) อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการผลิตโดย reuse หรือ recycle วัตถุดิบ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเกษตร เช่น การปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การผลิตโปรตีนทางเลือก และการผลิตอาหารสัตว์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในทุกภาคส่วนและทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนการลงทุนให้สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว สร้างมูลค่าเพิ่มและความเข้มแข็งในการแข่งขันทั้งในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การศึกษา กระบวนการผลิตสินค้า และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ เรายังต้องการการสนับสนุนจากต่างประเทศอีกมากทั้งในด้านการเงิน การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะในเทคโนโลยีระดับสูงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือลดก๊าซเรือนกระจก และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและประชาสังคมควรตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก่อนที่เราจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้เลย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ และการเข้าถึงกลไกทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศต่อประชาคมโลกในการมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 การประชุมครั้งนี้ จึงมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และความต้องการรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถแข่งขันและพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำได้

ด้านนายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจประจำสถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ ซึ่งได้ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ ได้แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลก การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินควบคู่กัน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยกับเยอรมนี ที่มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนานถึง 160 ปี แต่ยังหมายรวมถึงสหภาพยุโรป และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยที่ต้องร่วมกันจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องการทิศทางที่ชัดเจนจากนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนศักยภาพที่แท้จริงของภาคเอกชนและภาคประชาชน

ดังนั้น การพูดถึงเรื่อง Climate Finance จึงมิใช่เพียงแค่เรื่องงบประมาณจากภาครัฐเท่านั้น แต่ควรเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการออกแบบนโยบายและแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับการลงทุนของภาคเอกชน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม