เปิดวิสัยทัศน์ 'ประภาศ คงเอียด' ปธ.บอร์ดออมสิน ภารกิจ
แบงก์รัฐยุคใหม่ต้องคล่องตัวนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ สวมหมวกประธานกรรมการธนาคารออมสิน ประกาศสนับสนุนบทบาทและภารกิจสำคัญของธนาคารออมสินภายใต้วิสัยทัศน์ 'ธนาคารเพื่อสังคม' มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย รวมการถึงเป็นแหล่งเงินทุนแก่ภาครัฐในการพัฒนาประเทศ
บทบาทของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมและธนาคารเพื่อประชาชนนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่สังคมรู้จักกันดี แต่แน่นอนว่าอีกหนึ่งบทบาทที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกัน คือ การดำเนินงานด้านธุรกิจของธนาคารในการแสวงหารายได้แม้ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมต้องทำให้ธุรกิจปกติของธนาคารสร้างผลประโยชน์หรือผลกำไรเข้ามาช่วยสนับสนุนบทบาทเชิงสังคม ซึ่งนี่คือหลักของการเป็นธนาคารเพื่อสังคม
นายประภาศ กล่าวว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นประธานบอร์ดออมสินเมื่อช่วงเดือน ก.พ.65 ที่ผ่านมา เห็นว่าการดำเนินงานของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำให้รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสนองตอบกับนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ในฐานะประธานบอร์ดออมสิน ก็จะช่วยขับเคลื่อนงานที่ธนาคารออมสินจะเข้าไปมีบทบาทอีกหนึ่งในฐานะผู้เล่นในตลาด non bank ให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น
'ผมคงไม่ได้เข้ามาเน้นเรื่องใหม่ๆ มากนัก แต่จะสนับสนุนสิ่งที่ออมสินทำอยู่ปกติว่าจะช่วยขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นได้อย่างไร ทำให้ประชาชนมีโอกาส โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน จากที่เห็นออมสินทำเรื่อง non bank คิดว่าจะมาร่วมขับเคลื่อนในส่วนนี้แม้ว่าจะไม่ใช่นโยบายที่ออกมาจากผม แต่เป็นเรื่องที่ออมสินต้องทำ ในฐานะที่เข้ามาเป็นประธานจะร่วมกับกรรมการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นี่คือเรื่องหลักที่ต้องการทำ'ประธานบอร์ดออมสิน ระบุ
สำหรับการเข้าไปเป็นผู้เล่นใน non bank ในปีนี้ธนาคารออมสินวางเป้าหมายจะมุ่งไปในธุรกิจขายฝากที่ดิน ซึ่งเป็นเหมือนเฟส 2 ต่อจากโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ธนาคารออมสินร่วมมือกับพันธมิตรจากภาคเอกชนดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าธุรกิจขายฝากในปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้น การที่ธนาคารออมสินจะมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดจะช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เหมาะสม และช่วยให้ประชาชนลดการพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ราวกลางปีนี้
'ต้องรีบขับเคลื่อนเต็มที่ กำลังเร่งดำเนินการอยู่ ต้องตั้งบริษัทขึ้นมา เหมือนเป็นเฟส 2 ต่อจากการทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งการเปิดให้บริการ คาดว่าจะกลางปีนี้ การขายฝาก อย่างน้อยก็มีทรัพย์สิน ที่ดิน ที่ลดความเสี่ยงได้ เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ แล้วไปไถ่ถอนคืน ซึ่งการขายฝากที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้น ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนค่อนข้างเรียกเก็บจากผู้ขายฝากสูงมาก เราจะเข้าไปช่วยตรงนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำ เน้นให้โอกาส เพราะถ้าต้องเสียดอกเบี้ยสูงๆ อย่างในปัจจุบัน ก็เหมือนเป็นการตัดโอกาสเขา แหล่งเงินหายากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันดอกเบี้ยก็สูง ถามว่าแล้วเขาจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร เรื่องนี้ออมสินกำลังดำเนินการอยู่ ต้องเดินหน้าเต็มที่' นายประภาศ กล่าว
ประธานบอร์ดออมสิน ยังให้มุมมองในฐานะของอดีตผู้พิพากษา รวมถึงการเป็นผู้บริหารระดับสูงที่กำกับดูแลหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง และล่าสุดกรมธนารักษ์ โดยเห็นว่า การจะยกระดับหรือช่วยให้ธนาคารออมสินมีการดำเนินการตามพันธกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ออมสิน ที่ต้องมีการปรับแก้บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานที่จะทำได้
ในบรรดาแบงก์รัฐทั้งหมด มองว่ากฎหมายของออมสินค่อนข้างเข้มงวด อันเนื่องจากเพราะพื้นฐานแต่แรกคือ ออมสินเป็นธนาคารของรัฐ เป็นธนาคารของประชาชน ซึ่งการปรับแก้กฎหมายต้องคำนึงด้วยว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขให้สามารถทำอะไรได้อย่างง่ายเกินไปจนขัดกับหลักการหรือขัดกับอัตลักษณ์ที่ดีในการเป็นธนาคารออมสินที่มีมายาวนาน ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก
ตัวอย่างเช่น ออมสินไม่สามารถตั้งบริษัทลูกขึ้นมาธุรกิจ non bank ได้ หรือแม้แต่หากจะขยายสาขาต่างประเทศก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้น ณ วันนี้หากออมสินต้องการจะดำเนินธุรกิจหลากหลายขึ้น ก็จำเป็นต้องเข้าไปถือหุ้นหรือร่วมทุนกับภาคเอกชน และ หากออมสินเข้าไปถือหุ้นใหญ่ก็จะต้องเป็นลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัวเท่ากับบริษัท หรือการเข้าไปร่วมกับเอกชนก็อาจจะไม่ตรงกับพันธกิจของธนาคาร เพราะเอกชนย่อมมีความคาดหวังต่อกำไรหรืออัตราผลตอบแทนที่สูงอยู่แล้ว
'เช่น เราจะทำ non bank แต่โดยกฎหมายเราไม่สามารถตั้งได้เอง ต้องไปร่วมกับคนอื่น ถ้าทำได้เองก็อาจช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น เพราะออมสินถือหุ้นเอง ก็ไม่ต้องคิดในเชิงผลกำไรสูงเกินไป แต่พอต้องไปร่วมกับเอกชน แน่นอนว่าเขาต้องมุ่งหวังผลกำไร ดังนั้น เราต้องบาลานซ์กัน?หรืออย่างถ้าอยากออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศ ต้องเข้าไปร่วมกับคนอื่น ในอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าออมสินสามารถไปเปิดสาขาได้ก็น่าจะเปิดโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก
ดังนั้น ต้องมาตรวจสอบกฎหมายของออมสิน ประกอบกับทิศทางธุรกิจของออมสิน แนวโน้มที่ออมสินจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น ส่วนไหนที่ติดขัดเรื่อง พ.ร.บ.หรือกฎระเบียบต่างๆ ตัวหลักคือ พ.ร.บ.ออมสิน ที่ทิศทางของ สคร.ให้ทำอะไร แต่ออมสินไม่สามารถทำได้ ก็มีหลายส่วน' นายประภาศ กล่าว
ประธานบอร์ดออมสืน ย้ำว่าการแก้ พ.ร.บ.ออมสิน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสเตรียมพร้อมไว้สำหรับในอนาคตหากต้องการขยายทิศทางของการดำเนินธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น แต่ยืนยันว่าธนาคารออมสินไม่ได้ต้องการเข้าไปแย่งหรือกีดกันภาคธุรกิจเอกชน และยังยืนยันอัตลักษณ์ของธนาคารออมสินในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพียงแต่ขยายโอกาสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบทบาทการสร้างความเป็นธรรมเรื่องอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนในตลาด ย้ำว่าไม่ใช่การแย่งตลาด หรือทำให้เอกชนเสียหาย แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบมากกว่า
'เราต้องแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสก่อน แต่หลังจากนั้น โอกาสที่เราได้มาแล้ว เราจะทำเมื่อไร ก็ต้องไปดูว่าเหมาะ ณ เวลาไหน เรื่องแก้กฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรค ทำทันทีได้เลย...ในยุคของผม อยากให้เสนอแก้อะไรที่ทำให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อออมสิน หรือสิ่งที่เป็นอยู่เดิมกับในขณะนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป บางจุดต้องปรับแก้ แต่ไม่ใช่แก้จนเสียอัตลักษณ์ของออมสิน' นายประภาศ กล่าวย้ำ
ขณะที่ บทบาทของธนาคารออมสินในยุคของการเงินดิจิทัลนั้น นายประภาศ มองว่า จะต้องผลักดันให้รายย่อยสามารถให้บริการทางการเงินของออมสินด้วยรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างจริงจัง คือ การพัฒนา digital lending รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในการใช้งาน ซึ่งได้หารือกับนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินแล้วว่าจะต้องเร่งรัดเรื่องนี้ให้เร็วสุด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นกว่าการกู้ตามปกติ
แต่ขณะเดียวกัน จะต้องให้ความสำคัญการประเมินความเสี่ยงของหนี้เสียด้วย ซึ่งจะต้องเน้นระบบที่สามารถประเมินและตรวจสอบได้อย่างถูกต้องชัดเจน เชื่อว่าในอนาคตธนาคารออมสินก็จะมีการพัฒนาบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกับการเงินในยุคดิจิทัลออกมามากขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชนในเรื่องการใช้บริการทางการเงินผ่านรูปแบบเครื่องมือ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ อันทันสมัยที่จะออกมาในยุคการเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นในอนาคต