ผู้เขียน หัวข้อ: คลัง คาดครม. 22 มี.ค.เห็นความชัดเจนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพจากราคาน้ำมัน  (อ่าน 504 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
คลัง คาดครม. 22 มี.ค.เห็นความชัดเจนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพจากราคาน้ำมัน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง คาดว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า (22 มี.ค.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำเสนอมาตรการบรรเทาภาระประชาชน จากผลกระทบราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ให้ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันหารือและพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนในทุกรูปแบบ

"การประชุม ครม.ในวันที่ 22 มี.ค.นี้ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมา เพื่อดูแลประชาชนจากผลกระทบต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่วนรายละเอียดคงต้องรอให้ ครม. พิจารณาก่อน โดยรัฐบาลเองได้มีความพยายามดูแลในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ชัดเจน" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า เม็ดเงินมีเพียงพอที่จะใช้รองรับมาตรการที่จะออกมาอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งในส่วนของเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้งบประมาณปกติ และงบกลางที่จะนำมาใช้ได้ และมีบางมาตรการที่อาจจะไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ

ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จะมีการขยายเวลาการลดภาษีออกไปจากเดือน พ.ค.65 หรือไม่นั้น คงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เพราะต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างราคาน้ำมัน กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และฐานะการคลังด้วย

สำหรับการเพิ่มสวัสดิการในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเฉพาะการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากจำเป็นก็ต้องทำ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาอยู่ มีหลายช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วย การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ ภายใต้ความสามารถและภายใต้วินัยการเงินการคลัง

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 นั้น กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อีกทั้งช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่ การให้คนมารวมตัวกันที่สาขาของธนาคารเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอาจจะยังไม่เหมาะ ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในส่วนนี้ด้วย

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้มีการพิจารณาโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โดยปัจจุบันโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ยังดำเนินการอยู่ และต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยบรรเทาภาระให้ประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะไม่ปกติ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ แต่คงไม่ใช่ช่องทางที่จะทำตลอดไป เพราะเศรษฐกิจจะต้องเดินกลับมาสู่ระบบปกติในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งในภาวะปกติเอกชนถือเป็นพระเอกในการขับเคลื่อน ผ่านการค้า และการลงทุน ทุกประเทศทั่วโลกก็ทำในลักษณะนี้

"หากถามว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ยังจำเป็นต้องทำอีกไหม คงต้องไปดูกันในระยะต่อไป วันนี้สิ่งที่รัฐบาลช่วยยังมีอยู่ ยังไม่หมด คงต้องประเมินสถานการณ์กันต่อไป" นายกฤษฎา กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในขณะนี้ ที่อยู่ในระดับสูงนั้น กระทรวงการคลังก็มีการติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันที่ประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies? Meeting : FCBDM) ก็ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งที่ประชุมมีความเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนพอสมควร และต้องติดตามดูว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด และจะมีผลอย่างไรกับราคาน้ำมัน เพราะบางส่วนอาจมีผลเชื่อมโยงไปถึงอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินด้วย