ผู้เขียน หัวข้อ: ทริสฯ เพิ่มเครดิตองค์กร JMART เป็น BBB+/หุ้นกู้ BBB, ปรับแนวโน้มเป็น Stable  (อ่าน 415 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ hs8jai

  • *
  • กระทู้: 769
  • Popular Vote : 0
ทริสฯ เพิ่มเครดิตองค์กร JMART เป็น BBB+/หุ้นกู้ BBB, ปรับแนวโน้มเป็น Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เจมาร์ท (JMART) เป็น "BBB+" จาก "BBB" และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็น "BBB" จาก "BBB-" ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรซึ่งสะท้อนถึงความด้อยกว่าในเชิงโครงสร้างของภาระหนี้ของเงินกู้ยืมไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อเทียบกับสิทธิเรียกร้องในการชำระคืนหนี้ของบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัท ในขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตถูกปรับเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Positive" หรือ "บวก" การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็นผลมาจากการเพิ่มทุนซึ่งทำให้สถานะฐานทุนของบริษัทปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก

อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงระดับการก่อหนี้ที่ดีขึ้นจากฐานทุนที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทซึ่งมีแรงผลักดันจากความเข้มแข็งในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของ บริษัทลูกหลักคือ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) (อันดับเครดิตอยู่ที่ "BBB+/Stable") รวมถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างมั่นคงในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท

ในขณะที่อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนการกระจุกตัวของแหล่งรายได้ และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดรับในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ระดับอัตราการก่อหนี้ที่ลดลงจากการเพิ่มทุน
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมาจากการเพิ่มทุนจากบริษัทในกลุ่มบีทีเอส ซึ่งรวมไปถึง บมจ. วีจีไอ (VGI) และ บมจ. ยู ซิตี้ (U) จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ณ ช่วงสิ้นปี 2564 ส่งผลให้ระดับอัตราการก่อหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก

ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่าจาก 3.8 เท่าในปี 2563 แม้ว่าสถานะการก่อหนี้จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก แต่ทริสเรทติ้งมองว่าแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกโดยเฉพาะสำหรับ JMT จะทำให้เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนจะถูกใช้ไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3 เท่าในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าอัตราการจัดเก็บเงินของ JMT จะยังคงยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 รวมไปถึงไม่ได้มีการเพิ่มทุนอีกในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถ้าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 3.5 เท่าในระยะยาวก็จะส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน

มีความร่วมมือภายในกลุ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัท
สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก (Retail) และธุรกิจการเงิน (Finance) อยู่ในระดับปานกลางจากการพึ่งพาผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทลูกบางรายถึงแม้ว่าบริษัทจะมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายก็ตาม ในระยะยาวถ้าบริษัทสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ได้ก็จะอาจจะเป็นผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทเช่นกัน

ในปี 2564 ทริสเรทติ้งมองเห็นพัฒนาการที่ดีของความร่วมมือภายในกลุ่ม ตัวอย่างเช่น การจัดจำหน่ายสินค้าของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ผ่านทางเครือข่ายของ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) (อันดับเครดิตอยู่ที่ "BBB/Stable") โดยมีจำนวนยอดขายอยู่ที่ 500 ล้านบาทในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 120 ล้านบาทในปี 2563 รวมไปถึงการให้บริการสินเชื่อรายย่อยจากบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยและ บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด (อันดับเครดิตอยู่ที่ "A-/Stable") ช่วยส่งเสริมยอดขายสินค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบายประมาณ 400 ล้านบาทในปี 2564 จาก 110 ล้านบาทในปี 2563 เพื่อส่งเสริมความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทต่อไป

ความร่วมมือภายในกลุ่มต้องมีมากยิ่งขึ้นจากแผนธุรกิจดังต่อไปนี้ 1) JMTเป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ให้แก่บริษัทเคบี เจ แคปปิตอล และบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย 2) บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ให้การสนับสนุน JMT ด้วยการช่วยปรับปรุงและจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 3) JMT ร่วมมือกับบริษัทเคบี เจ แคปปิตอลในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย 4) การขยายสาขาร่วมของกลุ่ม เจมาร์ท (Synergy Shop) เพื่อใช้พื้นที่ร่วมกัน

ถึงแม้ว่าความร่วมมือกันของบริษัทภายในกลุ่มจะเริ่มเห็นผลที่ดี และแผนธุรกิจในการขยายเครือข่ายหรือการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ เพิ่มเติมจะสามารถขยายความร่วมมือกันของบริษัทภายในกลุ่มได้ดียิ่งขึ้นซึ่งอาจจะทำให้สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันในระยะกลาง กลุ่มเจมาร์ทก็ยังคงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่ม กระแสเงินสด และเงินทุนภายในกลุ่มที่ดีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจด้วย

มีการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของ JMT
ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้การดำเนินงานของ JMT เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและเป็นบริษัทหลักในการสร้างกำไรซึ่งช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ท โดยในปี 2564 JMT ยังคงเป็นบริษัทหลักที่ส่งผลกำไรที่สำคัญให้แก่กลุ่มด้วยผลกำไรสุทธิที่ระดับประมาณ 1.4 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 33.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) หรือคิดเป็นประมาณ 74% ของกำไรสุทธิของกลุ่มเจมาร์ทซึ่งไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษ เทียบกับ 80% ในปี 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มเจมาร์ทมีการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของ JMT ในระดับสูง

นอกจากนี้ ความสำคัญของ JMT ที่มีต่อกลุ่มเจมาร์ทยังเห็นได้จากการที่บริษัทได้รับการจัดสรรเงินลงทุนจากกลุ่มในปี 2564 ในสัดส่วนมากกว่า 90% ของการลงทุนรวมของกลุ่มอีกด้วย ในปี 2564 JMT ได้ใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นจำนวนเงิน 8.5 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดว่าระดับการลงทุนของ JMT จะยังคงอยู่ในระดับสูงจากการประกาศแผนธุรกิจของกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนการลงทุนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปที่บริษัทร่วมทุนกับทางธนาคารพาณิชย์ ภาระการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะลดน้อยลงจากการที่บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยลดภาระหนี้ของทั้งทางบริษัทและ JMT ได้ในระยะกลาง

ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้น
ในปี 2564 ผลการดำเนินงานในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดยบริษัทเจมาร์ท โมบายปรับตัวดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ในปี 2564 ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย เพิ่มขึ้น 14.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 8.1 พันล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาทในปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 237.6% จากปีก่อนหน้า

การปรับตัวดีขึ้นนั้นมาจากการร่วมมือกันภายในกลุ่ม แม้ว่าจะมีการชะลอตัวบ้างในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 จากการปิดเมือง (City Lockdown) ในบางส่วน ซึ่งความร่วมมือนั้นรวมไปถึง การให้สินเชื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านบริษัทเคบี เจ แคปปิตอล และบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย รวมถึงการให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายผ่านบริษัทซิงเกอร์ ช่องทางออนไลน์ และ Synergy Shop ทริสเรทติ้งคาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยทำให้ยอดขายของบริษัทเจมาร์ท โมบายปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในปี 2565 บริษัทเจมาร์ท โมบายมีแผนจะขยายสาขาจำนวนประมาณ 100 สาขาซึ่งน่าจะเป็นอีกส่วนที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้

กำไรจากธุรกิจของบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ทปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอน
ธุรกิจหลักของบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการปิดเมืองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564 รายได้ของบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ทปรับตัวลดลง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 434 ล้านบาท การปรับตัวลดลงของผลดำเนินการของธุรกิจหลักมาจากการปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Junction) ที่ไม่สร้างกำไร ในขณะที่ศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) มีการลดลงของอัตราการเช่าพื้นที่ รวมไปถึงการช่วยเหลือลูกค้าของบริษัทในยามยากลำบาก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 161 ล้านบาท ในปี 2564 จาก 56 ล้านบาทในปี 2563 การปรับตัวดีขึ้นเกิดจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนใหม่และค่าใช้จ่ายค่าเช่าที่ลดลงเทียบกับช่วงก่อนการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 16)

ในมุมมองทริสเรทติ้ง ผลประกอบการของบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ทยังคงมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ลูกค้ารายย่อยมีอำนาจการใช้จ่ายและความต้องการที่ลดลง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าผลประกอบการของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ใหม่จากศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ คือ JAS Green Village Kubon ที่เริ่มดำเนินการในปี 2565 ในอนาคต บริษัทเจเอเอส แอสเซ็ทมีแผนจะเริ่มกลับมาขยายธุรกิจในหลายโครงการ เช่น ศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ SENERA ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ รวมถึงศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสเงินสดใหม่เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าในระยะกลางยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่

แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่ตามงบการเงินรวมจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 4.5-5 พันล้านบาท ในปี 2565 รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2564 อีกจำนวนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ ในขณะที่บริษัทจะมีความต้องการใช้เงินทุนซึ่งประกอบด้วยภาระการลงทุนที่ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลต่อสภาพคล่องของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 1.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าบริษัทควรมีการขยายวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่หลากหลายขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนความต้องการด้านสภาพคล่องในยามที่ตลาดทุนมีความโกลาหลผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2567) ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทดังต่อไปนี้

บริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 1.4-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี

อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บหนี้จะอยู่ที่ระดับ 70% ส่วนของธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ระดับ 10%-15% และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ระดับ 70%

เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี และเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า JMT จะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะที่สถานะในการแข่งขันในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงเดิม โดยรักษาการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทลูกรายอื่น ๆ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทเจมาร์ทสามารถยกระดับสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลูกต่าง ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังคงรักษาระดับหนี้ในระดับที่เหมาะสมไว้ได้ ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือในส่วนของบริษัทลูกต่าง ๆ หรือจากการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่สูงเกินกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง