ผู้เขียน หัวข้อ: ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TPIPL ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable  (อ่าน 431 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • *
  • กระทู้: 931
  • Popular Vote : 0
ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TPIPL ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ตลอดจนตำแหน่งผู้นำในตลาดพลาสติก Low-density Polyethylene (LPDE) และ Ethylene Vinyl Acetate (EVA) และการมีกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจใน 3 ธุรกิจหลักดังกล่าว รวมไปถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติก ตลอดจนผลกระทบจากการหมดอายุของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแนวโน้มสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการลงทุนใน "โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ" (Special Economic Zone -- SEZ)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ในประเทศไทย
บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตต่อปีที่ 13.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 23% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีธุรกิจขนาดใหญ่ การดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรในแนวดิ่ง (Vertical Integration) และการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ ปูนซีเมนต์ คอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ กระเบื้องคอนกรีต คอนกรีตมวลเบา และปูนสำเร็จรูป

อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งในธุรกิจปูนซีเมนต์ดังกล่าวถูกลดทอนจากความเสี่ยงหลายประการ อาทิ วงจรอุตสาหกรรมที่มีลักษณะขึ้นลง การแข่งขันด้านราคา ลักษณะของธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง และความผันผวนของราคาถ่านหิน เป็นต้น ทั้งนี้ จากราคาถ่านหินที่สูงในปัจจุบัน บริษัทได้เริ่มทดแทนถ่านหินที่ใช้อยู่ด้วยเชื้อเพลิง Refuse-Derived Fuel (RDF) ในสัดส่วนที่ 40% ทั้งนี้ ผู้บริหารคาดว่าโครงการทดแทนถ่านหินดังกล่าวน่าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ประมาณ 1-2 พันล้านบาทในปี 2565

เป็นผู้นำในตลาดพลาสติก LPDE และ EVA
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติก LDPE EVA และสินค้ากาวเคมีชั้นนำของประเทศไทยโดยมีกำลังการผลิตขนาด 158,000 ตันต่อปี โรงงานพลาสติกของบริษัทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปิโตรเลียมครบวงจรขนาดใหญ่ในจังหวัดระยอง บริษัทถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดพลาสติก LDPE ภายในประเทศ ประมาณ 15% คิดตามกำลังการผลิตและเป็นเพียงผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตพลาสติก EVA ได้

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้หันมามุ่งเน้นสินค้า EVA เฉพาะเกรดพิเศษที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น ในขณะที่ดำเนินการลดการผลิตสินค้า LDPE แบบโภคภัณฑ์ทั่วไป โดยบริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ EVA ในธุรกิจพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน นอกเหนือจากสินค้าเหล่านี้แล้ว บริษัทยังเป็นผู้ผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศไทยหลากหลายชนิดอีกด้วย เช่น กาว แอมโมเนียมไนไตรท และกรดไนตริก เป็นต้น ความเสี่ยงทางธุรกิจในธุรกิจพลาสติกของบริษัทนั้นมีที่มาจากความผันผวนของราคาในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการแข่งขันของคู่แข่งระดับโลกบางราย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความผันผวนของราคานั้นมีผลกระทบที่น้อยสำหรับสินค้าพลาสติกที่เป็นเกรดพิเศษ อย่างเช่นสินค้า EVA ที่คุณภาพสูง และสินค้ากาวเคมีของบริษัท

กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสถานะเครดิตที่เข้มแข็งของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก โดยบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะรายใหญ่ในประเทศไทย และเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 8 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง (180 เมกะวัตต์) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 ฉบับเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 163 เมกะวัตต์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA/Stable" จากทริสเรทติ้ง) สัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ อีกทั้งยังให้ Adder จำนวน 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 7 ปี

ผลประโยชน์จากการมีธุรกิจที่หลากหลาย
รายได้หลักของบริษัทมีมาจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง (37% ของรายได้รวมในปี 2564) ธุรกิจพลาสติก (29%) และธุรกิจผลิตไฟฟ้า (22%) อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกระแสเงินสดนั้น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดถึงประมาณ 40%-70% ของ EBITDA ของทั้งกลุ่มบริษัทในระหว่างปี 2562-2564 ผลกำไรและกระแสเงินสดโดยรวมของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้เปิดดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ ในมุมมองของทริสเรทติ้ง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าสามารถชดเชยความผันผวนของธุรกิจปูนซีเมนต์และพลาสติกได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการพึ่งพาแหล่งรายได้ที่แตกต่างกัน เช่น รายได้ปูนซีเมนต์ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่รายได้พลาสติกมาจากตลาดส่งออกเป็นหลัก

ผลการดำเนินงานที่ยังแข็งแกร่งในปี 2564
ผลกำไรของบริษัทพุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนส่วนใหญ่จากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในธุรกิจพลาสติก กำไรที่สูงของธุรกิจพลาสติกนั้นเป็นผลมาจากส่วนต่างราคาที่กว้างขึ้นระหว่างราคาของ EVA รวมถึงสินค้ากาวเคมี และวัตถุดิบ ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับ EVA เกรดสูงของบริษัทที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ตามการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เติบโตมากขึ้น ในขณะที่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ยังคงดำเนินการได้อย่างดี และสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถผลิตปริมาณไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการติดตั้งหม้อไอน้ำสำรอง นอกจากนี้ โรงงานปูนซีเมนต์ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถใช้ RDF เข้าไปทดแทนถ่านหินได้ถึง 40% ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนของปูนเม็ดได้

ในปี 2564 EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จาก 0.93 หมื่นล้านบาทในปี 2563 อัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 30.8% เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 17.4% อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ในปี 2564 ก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.8 เท่า ลดลงจาก 6.0 เท่าในปี 2563

ผลกระทบจากการหมดอายุของ Adder
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ในอนาคตของบริษัทจะลดลงจากการหมดอายุของ Adder ที่ใกล้จะมาถึงซึ่งจะมีผลในช่วงปี 2565-2568 รายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 ฉบับแรกรวมเป็น 73 เมกะวัตต์นั้นหมดอายุ อย่างไรก็ตาม ผลกำไรที่ลดลงของ Adder ที่หมดอายุในปี 2565 นั้นน่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่น่าจะฟื้นตัว รวมถึงการประหยัดของต้นทุนจากโครงการทดแทนถ่านหิน และค่า Ft ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทจะลดลงอีกครั้งในปี 2568 เมื่อ Adder ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 90 เมกะวัตต์นั้นหมดอายุ

ทริสเรทติ้งมองว่าความยั่งยืนของผลกำไรของบริษัทส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับจำนวนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่บริษัทสามารถทำสัญญาได้นับจากนี้ไป ทั้งนี้ บริษัทได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ขนาดเล็ก 2 ฉบับ ได้แก่ สัญญาขนาด 8 เมกะวัตต์สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่จังหวัดสงขลา และอีก 9.9 เมกะวัตต์สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอีกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมเข้าร่วมประมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอีกหลายโครงการทั่วประเทศ คาด EBITDA น่าจะอยู่ระหว่าง 0.85-1.05 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567

ในการคาดการณ์กรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะลดลงในช่วงปี 2565-2566 ก่อนฟื้นตัวในปี 2567 และคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั้ง 2 แห่งในจังหวัดสงขลาและจังหวัดนครราชสีมาจะเริ่มสร้างกระแสเงินสดได้ในต้นปี 2567 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีสมมติฐานว่าบริษัทจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้น่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2567-2568 สำหรับธุรกิจพลาสติกนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรที่ดีของบริษัทน่าจะทยอยลดลงในปี 2565-2567 ตามสมมติฐานว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า สำหรับธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมการก่อสร้างและราคาถ่านหินที่ลดลงในระยะยาว

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 0.85-0.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มลดลงโดย EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 23%-25% ในระหว่างปี 2566 และ 2567 ทั้งนี้ จากแรงกดดันต่อการทำกำไรที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มผลกำไรดังกล่าว ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตของ EVA การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า โครงการทดแทนถ่านหินในโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้า และการเสนอขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน/RDF ขนาด 70 เมกะวัตต์ โอกาสที่ EBITDA จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นอาจจะเกิดจากส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกที่สูงกว่าที่คาดและการประสบความสำเร็จในโครงการลดต้นทุนต่าง ๆเหล่านั้นของบริษัท

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารของบริษัทคาดว่าจะสามารถรักษา EBITDA ได้ถึง 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทหากโครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ทางบริษัทคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA น่าจะอยู่ที่ 5 เท่าในระหว่างปี 2565-2568 ผลประโยชน์ที่จะอาจจะเกิดจากแผนการลดการปล่อยคาร์บอน

บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างมากในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการดำเนินธุรกิจตามหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก บริษัทได้เริ่มดำเนินโครงการทดแทนถ่านหิน โดยมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินไปเป็น RDF ในการผลิตปูนซีเมนต์และในโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจะช่วยลดความเสี่ยงจากราคาถ่านหินและบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุนจากราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าคุณภาพความร้อนของ RDF จะต่ำกว่าถ่านหิน แต่ RDF ก็มีต้นทุนคงที่และมีความสัมพันธ์กับเชื้อเพลิงโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่น้อยกว่า

โดยรวมแล้ว บริษัทวางแผนจะใช้เงินประมาณ 3.97 พันล้านบาทสำหรับโครงการทดแทนถ่านหินในช่วงปี 2565-2567 ในระยะเวลาอันใกล้นี้ บริษัทคาดว่าโครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการประหยัดต้นทุนประมาณ 800 ล้านบาทในปี 2565 จากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทในระยะยาว บริษัทคาดว่าความพยายามในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจะช่วยเพิ่มผลกำไรในรูปแบบของรายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในอนาคต บริษัทได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งดำเนินการภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบคาร์บอนเครดิตในท้องถิ่น นอกจากนี้ บริษัทกำลังมองหาผู้ตรวจสอบระดับสากลเพื่อสนับสนุนแผนการค้าคาร์บอนเครดิตในตลาดต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย สัดส่วนภาระหนี้สินน่าจะสูงขึ้น

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังมีการลงทุนอย่างมากในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนหลักจะประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 2 แห่งในจังหวัดสงขลาและนครราชสีมาจำนวน 3.05 พันล้านบาท การขยายกำลังการผลิต RDF 1.2 พันล้านบาท โครงการทดแทนถ่านหินจำนวน 3.97 พันล้านบาท และการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอื่น ๆ อีก ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะค่อย ๆ อ่อนแอลงเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 เท่าในปี 2567 จาก 4.8 เท่าในปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อส่วนทุนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 50%-55% ในช่วงปี 2565-2567 เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 5.6-5.8 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้ทางการเงินสุทธิคาดว่าจะลดลงเป็น 13% ในปี 2565 จาก 16% ในปี 2564 และคงระดับต่ำที่ประมาณ 9% ในปี 2566-2567

โครงการ SEZ ถูกระงับ

บริษัทได้เตรียมการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาโครงการ SEZ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Seaboard) โดยโครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม โครงการ SEZ ถูกสั่งให้หยุดดำเนินการเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หลังจากเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้อยู่อาศัยในอำเภอจะนะ ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงเนื่องจากบริษัทได้จัดซื้อที่ดินในอำเภอจะนะไปแล้วรวมมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่โครงการยังมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถูกระงับชั่วคราว และความก้าวหน้าของโครงการนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าโครงการน่าจะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มีการพึ่งพาเงินกู้จากหุ้นกู้อย่างมาก

ณ สิ้นปี 2564 หนี้รวมของบริษัทไม่รวมสัญญาเช่าการเงินมีจำนวน 6.77 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ บริษัทยังคงใช้หุ้นกู้เป็นแหล่งเงินทุนหลักเนื่องจากเป็นทางเลือกของผู้บริหาร ประกอบกับสภาวะตลาดหุ้นกู้ที่ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทยังคงมีหุ้นกู้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของภาระหนี้โดยรวม จากการพึ่งพาหุ้นกู้ในสัดส่วนที่สูง ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการรีไฟแนนซ์ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต้องอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่า ในขณะที่ ณ เดือนธันวาคม 2564 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.18 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานจะลดลงเหลือ 3.85 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 3.65 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567

EBITDA Margin จะลดลงสู่ 27% ในปี 2565 และอยู่ระหว่าง 23%-25% ระหว่าง 2566-2567

เงินลงทุนจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 5-9 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567

อัตราการจ่ายปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกจะยังคงเดิม ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและยังคงสร้างกระแสเงินสดให้แก่กลุ่ม ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการแสวงหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนช่วยชดเชยกระแสเงินสดที่ลดลงจากการหมดอายุของ Adder ได้ ในขณะที่ผลการดำเนินงานและสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในเวลาอันใกล้นี้จากแนวโน้มของกระแสเงินสดที่ลดตัวลง ประกอบการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะคงดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นก็อาจจะเกิดได้หากบริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทได้รับประโยชน์จากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานต่าง ๆ และ/หรือ ประสบความสำเร็จในการได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ ซึ่งสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากการหมดอายุของ Adder ได้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจจะเกิดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงต่ำกว่า 6 เท่าเป็นระยะเวลานาน และบริษัทสามารถกระจายความหลากหลายของแหล่งกู้ยืมได้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่สูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะเกิดได้จากการที่ผลกำไรลดลงอย่างมาก และ/หรือบริษัทมีการลงทุนโดยใช้หนี้เงินกู้อย่างเกินตัว นอกจากนี้ การสูญเสียส่วนทุนจำนวนมากจากคดีฟ้องร้องที่ยังคงค้างอยู่ก็อาจส่งผลทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้ด้วยเช่นกัน