ผู้เขียน หัวข้อ: TU ปักธงรายได้ปี 65-68 โตเฉลี่ยกว่า 5% เน้นเพิ่มสินค้านวัตกรรมอัพมาร์จิ้น  (อ่าน 487 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
TU ปักธงรายได้ปี 65-68 โตเฉลี่ยกว่า 5% เน้นเพิ่มสินค้านวัตกรรมอัพมาร์จิ้น

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน (TU) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าธุรกิจในปี 65-68 ในด้านรายได้เติบโตต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 64 ที่มีรายได้ 1.41 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเน้นการเพิ่มธุรกิจนวัตกรรมที่จะสร้างรายได้ในสัดส่วน 10% ของรายได้รวม ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20% จาก 18.2% ในปี 64

"ทิศทางในปี 2568-2568 ด้าน Top line (รายได้) ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเติบโตมาก แต่เน้นความสามารถทำกำไรให้มากกว่า เพราะว่าหาก Gross Profit เติบโตก็จะทำให้กำไรสุทธิดีขึ้นด้วย"นายธีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่แข็งแช่เย็น ยังคงเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ที่มีสัดส่วน 42% และ 41% ตามลำดับ ซึ่งเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 3% ขณะที่อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มีสัดส่วน 17% ซึ่งจะเป็น Growth Engine ใหม่ เพราะธุรกิจนี้มีแนวโน้มการเติบโตมากและทำกำไรได้ดี

สำหรับตลาดในประเทศ ที่มีสัดส่วน 10% ของยอดขายนั้น บริษัทมีแบรด์ของตัวเอง "Select" ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 58% และเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.4% ขณะที่ภาพรวมตลาดทูน่าเติบโตไม่ถึง 1% โดยปัจจัยราคาน้ำมันสูงขึ้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมาก แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น บริษัทได้ปรับราคาขึ้น 5-7% และส่วนที่รับจ้างผลิตก็มีการปรับราคาเรื่อยๆตามคำสั่งซื้อ นอกจากนี้บริษัทเตรียมออกสินค้าซีเล็คทูน่ากัญชงภายในปีนี้ ขณะนี้รอกฎหมายและข้อบังคับ และยังพัฒนาทูน่ากัญชาด้วย รวมถึงสินค้าใหม่ ซีเล็คทูน่าในน้ำมันมะกอก

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทแยกธุรกิจ (Spin off) กลุ่ม Pet Care ที่จะเป็นไฮไลท์ในปีนี้ โดยมีแผนนำ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (เดิมชื่อ บมจ.สงขลาแคนนิ่ง) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสิ้นปี 65

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเป็นธุรกิจเพิ่มมูลค่าที่เน้นสร้างกำไร ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่มนี้เป็น 10% และอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% ภายในปี 68

บริษัทจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือจากธุรกิจสตาร์อัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ที่วางงบลงทุน (Corporate Venture Fund) ไว้ราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใช้ไปแล้วกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะผลักดันนวัตกรรมใหม่เข้ามาอย่างเนื่องไปถึงปี 68 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Food Ingredients) คอลลาเจนเปปไทด์ แคลเซียมจากกระดูกทูน่า น้ำมันปลาทูน่า ในแบรนด์ Zeavita , กลุ่ม suppliment ที่นำสินค้า Food Ingredients เข้าสู่ B2C และ กลุ่มโปรตีนทางเลือก

รวมทั้งยังมีการร่วมทุนในกิจการร่วมค้า (JV) ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ และขยายการลงทุนในสตาร์อัพ โดยใช้งบในส่วน Corporate Venture Fund และเพิ่มความร่วมมือกับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ

ส่วนในปี 66-68 มีแผนจะขยายตลาดและพัฒนาสินค้าโปรตีนทางเลือกที่มองว่าตลาดในไทยมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้

นายธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปี 65 บริษัทตั้งงบลงทุนจำนวน 6 พันล้านบาท ไม่นับรวมธุรกิจใหม่และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยการลงทุนจะคล้ายกับการลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะกลยุทธ์ของบริษัทเปลี่ยนไปเน้นธุรกิจอาหารที่มีนวัตกรรม โดยการลงทุนในธุรกิจหลักจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุน Robot และ AI นอกจากนี้ จะใช้ในการสร้างโรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจนเปปไทด์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/65 หรืออย่างช้าต้นปี 66 และขยายธุรกิจโปรตีนทางเลือก

ส่วนการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีกี่ดีล ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส รวมทั้งความน่าสนใจของธุรกิจที่บริษัทศึกษาอยู่

ทั้งนี้ บริษัทมีความสามารถในการลงทุนเพียงพอ เนื่องจากมีอัตราหนี้สินสุทธิ (Net Debt) ต่ำกว่า 1 เท่า ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าภายในปี 68 จะมีสัดส่วน Blue Finance 75% ของหนี้ระยะยาวที่มีอยู่ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่เป็นตราสารหนี้ที่มีนวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน เพราะจะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ดีกว่าหุ้นกู้ปกติ โดยบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ในช่วงปี 66-67 ที่จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน คาดว่าจะได้รับการตอบรับดีทั้งในไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทมีอันดับเครดิตในระดับที่ดี