http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=448&contentID=142179'ศปจร.ตร.' ลุยจับรถจดประกอบเร่งชงแก้พ.ร.บ.พิกัดสรรพสามิตปัญหา รถยนต์จดประกอบ ที่ เดลินิวส์ เกาะติดนำเสนอตีแผ่เรื่องราวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมศุลกากร สรรพสามิต ตลอดจนกรมการขนส่งทางบก ได้รับรู้ว่ามีการใช้ช่องว่างของกฎหมายในการนำเข้ารถยนต์มือ 2 จากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์หรู หรือรถสปอร์ต อาทิ โตโยต้า อัลพาร์ด มินิออสติน หรือเบนซ์สปอร์ต ไม่เว้นรถยนต์ซูเปอร์คาร์ อาทิ เฟอร์รารี ลัมโบกินี ซึ่งมีราคาถูกกว่ารถยนต์ในเมืองไทยหลายเท่าตัว มาใช้วิธีการจดประกอบ ฟอกรถ ขอทะเบียน เพื่อให้รถยนต์สามารถวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขั้นตอนฟอกรถยนต์เหล่านี้ เป็นที่รับรู้กันในวงการกระซิบแจ้งข้อมูลมาว่า มีการจ่ายใต้โต๊ะ เพื่ออำนวยความสะดวกแทบทุกขั้นตอน
เป็นที่รับรู้กันในวงการด้วยว่า มีข้อกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่าห้ามนำอะไหล่ หรือรถยนต์มือ 2 จากต่างประเทศมาประกอบเพื่อวิ่งบนท้องถนน หากยังไม่ผ่านการตรวจสภาพจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ. อย่างไรก็ตาม ขบวนการนำเข้ารถยนต์จดประกอบ ได้หลีกเลี่ยงข้อกฎหมายดังกล่าว ด้วยการนำรถยนต์ทุกประเภทที่นำเข้ามา ไปติดตั้งแก๊ส ทั้งติดจริง ติดหลอก เพราะจะได้ข้อยกเว้นขั้นตอนตรวจสอบจาก สมอ. ที่มีมาตรฐานสูงมาก
แม้แต่เฟอร์รารี ลัมโบกินี ที่นำเข้ามาเป็นอะไหล่เพื่อรอการจดประกอบ ยังมีการติดถังแก๊สแบบโดนัทให้เห็นกันเต็มตาแถวอู่ใหญ่ย่านใจกลางเมืองหลวง!
หลังจากนั้น รถยนต์ที่ผ่านการตรวจสภาพจะถูกนำไปขอเล่มทะเบียนจากขนส่งฯ ได้อย่างฉลุย เพราะเจ้าหน้าที่ขนส่งที่พิจารณาออกเล่มทะเบียนนั้น จะพิจารณาจากเอกสารประกอบว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีใบอินวอยซ์ เสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการให้สรรพสามิตประเมินจ่ายภาษี ตลอดจนมีการตรวจสภาพจาก สมอ.หรือยังหากเอกสารครบถ้วน ขั้นตอนการขอทะเบียนจะใช้เวลาพิจารณาในเสี้ยวอึดใจ
หลังทีมข่าวเฉพาะกิจนำเสนอเรื่องนี้มานานหลายเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มมีเสียงตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมที่รับเป็นแม่งานในการสังคายนาปัญหา ดังกล่าว เนื่องจากภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอย่างมหาศาล
แต่ช่องโหว่ของกฎหมายยังคงมีอยู่ภาระหนักจึงตกเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะชุดปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ที่แม้รู้ทั้งรู้ว่ารถเหล่านี้อาศัยช่องว่างของกฎหมาย หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าที่สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้
โดยมากจะทำได้เพียงอายัดไปตรวจสอบหาที่มาของรถยนต์เหล่านี้ หากเจ้าของรถสามารถ วิ่งหา เอกสารนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ก็ถือเป็นอันจบพิธี เจ้าของอู่รถยนต์ต่าง ๆ ยังเสนอขายรถจดประกอบให้กับลูกค้าเป็นตัวเลือกอย่างเอิกเกริก มีให้เห็นกันเกลื่อนตามเว็บไซต์ต่าง ๆ และส่วนใหญ่ยังการันตีในทำนอง เย้ยหยันว่า ตำรวจไม่สามารถจับกุมได้อย่างแน่นอน เพราะรถทำถูกต้อง มีเอกสารถูกกฎหมายทุกอย่าง ดังนั้นจึงมีลูกค้าบางกลุ่มที่ชอบของดีราคาถูก แต่ ไม่ถูกกฎหมาย ตกเป็นเหยื่อหลงวางเงินมัดจำเป็นแสนเป็นล้านรอรถยนต์ที่ตัวเองหมายตา ถูกลำเลียงจากต่างประเทศใส่ตู้คอนเทเนอร์เข้ามาในเมืองไทย
แต่จากข่าวจับกุมรถยนต์จดประกอบไม่นานมานี้ อาจทำให้ใครต่อใครที่อยากได้รถแจ่ม ๆ ราคาถูกเหล่านี้ ต้องกลับไปคิดทบทวนกันใหม่อีกครั้ง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ระพีพัฒน์ ปาละวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปจร.ตร.) ได้นำทีมแถลงข่าวใหญ่ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงผลการปฏิบัติงานหลังสั่งการให้ชุดปฏิบัติการศปจร.ตร. ดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดีรถยนต์ในหลายพื้นที่ โดยสามารถตรวจยึดจับกุมรถยนต์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดได้ทั้งสิ้น 100 คัน แยกประเภทเป็น รถหนีภาษีศุลกากร 51 คัน, รถแจ้งหายจากประเทศมาเลเซีย 24 คัน และ รถต้องสงสัยว่าหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า 25 คัน
พล.ต.ท.ระพีพัฒน์ หรือ บิ๊กต้อย กล่าวว่า รถยนต์ที่สามารถจับกุมได้เหล่านี้กว่า 100 คัน จะส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตาม พ.ร.บ.ศุลกากรต่อไป สำหรับรูปแบบคนร้ายที่นำเข้ารถผิดกฎหมายเหล่านี้มีรูปแบบวิธีการกระทำผิด โดยนำรถยนต์ทั้งคันหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรประเทศมาเลเซีย หรือประเทศสิงคโปร์เข้ามาในไทยและขายให้กับประชาชนโดยผิดกฎหมาย ทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อนำรถยนต์เหล่านี้ไปขายยังประเทศที่สาม ในรูปแบบของนิติบุคคลโดยแสดงเอกสารว่าเป็นรถที่เข้ามาซ่อมดัดแปลงสภาพรถเพื่อให้ได้ทะเบียน แล้วส่งต่อไปจำหน่ายยังอีกประเทศ
ผอ.ศปจร. กล่าวต่อว่า อีกรูปแบบคือการนำเข้ารถยนต์เก่า โดยการสำแดงเท็จต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่าเป็นชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพื่อเสียภาษีในอัตราของอะไหล่รถยนต์ แล้วนำอะไหล่มาใช้วิธีการ จดประกอบ เป็นรถยนต์เก่าสมบูรณ์เต็มคัน โดยพบว่าขบวนการเหล่านี้มีช่องทางนำเข้าด้วยการลักลอบมาทางชายแดนประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านศุลกากรทั้ง 12 ด่าน พบว่าด่านที่ผ่านมากที่สุดคือด่านสะเดา อีกส่วนจะลักลอบนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นโดยซุกซ่อนมาในตู้คอนเทเนอร์ โดยมีแบบทั้งคัน และถอดแยกเป็นอะไหล่สำคัญ เช่น ประตูรถ เครื่องยนต์ เพื่อมาประกอบในไทย และบางส่วนนำออกไปขายยังประเทศที่สาม โดยพบว่ามีจุดที่ใช้ปรับแต่งรถเหล่านี้ในย่านลาดกระบัง และแหลมฉบัง
สัญญาณเตือนจากตำรวจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ศปจร.เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามจับกุมรถยนต์จดประกอบอย่างเข้มงวด เพราะรถยนต์เหล่านี้ ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี จนถึงขณะนี้อาจสูงถึง 1,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเสียงพรายกระซิบแว่วเข้าหูมาว่า ในอนาคตอันใกล้ กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อแก้ปัญหารถยนต์จดประกอบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่า บรรดารถยนต์จดประกอบที่วิ่งกันเกลื่อนเมืองเป็นหมื่นเป็นพันคัน จะได้รับผลกระทบเช่นไร
แม้กฎหมายจะไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ แต่เชื่อว่ารถยนต์หรูจดประกอบจะไม่สามารถวิ่งอวดโฉมแบบสบายใจตามท้องถนนเหมือนเดิม เพราะเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเริ่มจ้องจับตา เช็กบิล รถยนต์หรูเหล่านี้กันอย่างจริงจังแน่นอน.
พงษ์พิพัฒน์ จินดาศรี
อ่านแล้วว่าไงกันบ้างครับ