แชร์ข้อมูลมาจาก SCT ครับ
ข่าววันนี้
Subject: กรมชลประทาน มั่นใจ กทม.น่าจะพ้นวิกฤติน้ำท่วม และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติสิ้นเดือน ต.ค.
กรมชลประทาน มั่นใจ กทม.น่าจะพ้นวิกฤติน้ำท่วม และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติสิ้นเดือน ต.ค. ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง กลางเดือน พ.ย. ข้อแม้ต้องไม่มีพายุหรือฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ขณะที่น้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง เพราะตอนบนประเทศปริมาณฝนตกลด ประกอบกับ 2 เขื่อนใหญ่ ภูมิพล สิริกิติ์ ก็ปล่อยน้ำลดลงด้วย
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 11 ต.ค. นายบุญสนอง สุชาติพงษ์ โฆษกกรมชลประทาน กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปีของประเทศไทยว่า หากไม่มีพายุเข้ามาอีกมั่นใจว่า กรมชลประทานจะสามารถแก้ปัญหาได้ เนื่ิองจากขณะนี้ปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนของประเทศ มีภาวะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่งทั้งเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เริ่มปล่อยน้ำลดลง อาทิ เขื่อนภูมิพล จากวันละ กว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือล่าสุดวันนี้ 11 ต.ค. ประมาณวัน 93 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 55-60 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ในวันนี้มั่นใจว่าปริมาณน้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ จ.พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ในภาวะวิกฤติน้ำจะไม่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มน่าจะลดลงได้หากไม่มีพายุหรือฝนตกเพิ่มเหนือเขื่อนอีก
ทั้งนี้ พายุที่คาดการณ์ว่าอาจเข้าประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งมาว่า น่าจะไม่เข้าแล้วจะไปเข้าที่ทางตอนใต้ของประเทศจีนแทน
แต่ก็ยังต้องติดตามเส้นทางของพายุอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนในพื้นที่ กทม. กรมชลประทานมั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมพื้นที่ในเขต กทม. จนถึงขั้นวิกฤติ อย่างที่ประชาชนมีความไม่สบายใจอย่างที่เป็นข่าว เนื่องจากเมื่อแนวโน้มน้ำเหนือและน้ำฝนที่ตกลงมาเหนือเขื่อนทั้ง 2 ของประเทศลดลง ก็จะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.บางไทร พระนครศรีอยุธยา วันนี้อยู่ที่ประมาณ 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ประกอบกับคันกั้นน้ำของ กทม. สามารถรองรับน้ำได้สูงสุดที่ 2.50 เมตร ซึ่งล่าสุดระดับน้ำยังอยู่ที่ประมาณ เกือบ 2 เมตร น่าจะสามารถรองรับน้ำได้อีก ทำให้เชื่อว่าแม้วันที่ 14-18 ต.ค. ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงสุด กทม. จะสามารถผ่านพ้นไปได้ แต่ก็คงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ แต่จะไม่ถึงขั้นวิกฤติอย่างที่เป็นข่าว
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทรงตัว โดยไม่มีตัวแปรอย่างพายุลูกใหม่ หรือฝนที่ตกหนักลงมาอีก เชื่อว่า กรมชลประทานจะสามารถระบายน้ำจนทำให้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติได้ ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือที่ราบทุ่งเจ้าพระยา ที่ขณะนี้ กรมชลประทานผันน้ำเข้าไปจนเต็มความจุนั้น จะสามารถระบายน้ำออกจนเข้าสู่ภาวะปกติได้ ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
"อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานก็ไม่ประมาทจะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนให้เตรียมตัวให้พร้อม ตื่นตัวแต่อย่าถึงขั้นตื่นตระหนก" โฆษกกรมชลประทาน กล่าว
นอกจากนี้ โฆษกกรมชลประทาน ยังระบุ ถึงกรณีมีข่าวว่า รัฐบาลรู้สึกไม่พอใจที่กรมชลประทานไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้รัฐบาลทราบจนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ว่า กรมชลประทาน ไม่เคยมีการปกปิดข้อมูลดังกล่าว มีแต่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแบบหมดเปลือก แต่อาจเกิดจากมีคนคิดไปเองหรือไม่ ว่ากรมชลประทานพยายามปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณน้ำ แต่เราจะไม่ขอโต้แย้งแต่จะขอแก้ไขมากกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานพร่องน้ำทั้งในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ไปจนถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ประมาณ 3-4 ครั้ง แต่พร่องน้ำแล้วฝนตกลงมาติดต่อกันน้ำก็เต็มเขื่อนอีก
โดยสถิติปริมาณน้ำในปีนี้สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่าง เขื่อนภูมิพล มีค่าเฉลี่ยปกติปริมาณน้ำตลอดทั้งปี ที่ ประมาณ 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ปีเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแล้วที่กว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้ทำการพร่องน้ำในเขื่อนและลำคลองในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมไว้แล้ว ประมาณถึง 30% เพื่อรองรับฝนที่จะตกในพื้นที่ภาคใต้ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะตกหนักเหมือนกันเนื่องจากปรากฏการณ์โลกร้อน
Source- thairath