ผู้เขียน หัวข้อ: HMPRO แจงปี 64 กำไรโต 5.54% กลยุทธ์ปรับตัวสู้วิกฤติโควิดสอดรับ New Normal  (อ่าน 354 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
HMPRO แจงปี 64 กำไรโต 5.54% กลยุทธ์ปรับตัวสู้วิกฤติโควิดสอดรับ New Normal

นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 64 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 63,925.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,176.80 ล้านบาท หรือ 3.53% โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,440.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285.82 ล้านบาท หรือ 5.54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ประกอบด้วย รายได้จากการขายสินค้า และรายได้จากการให้บริการลูกค้า (Home Service) รวมจำนวน 60,567.91 ล้านบาท ปรับตัวขึ้น 2,221.14 ล้านบาท หรือ 3.81%

โดยทั้งปี 63 และ 64 มีผลกระทบจากมาตรการปิดสาขาชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ปรับตัว และพัฒนาปรับปรุง ทั้งสินค้า และบริการ ให้สอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน บริการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้สามารถทำงานที่บ้านได้ รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้า และบริการภายใต้ Omni Channel Platform ส่งผลทำให้ยอดขายสาขาเดิม ยอดขายออนไลน์ และรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายสาขาเดิมของประเทศมาเลเซีย ที่ยังหดตัวจากการปิดสาขา และมีมาตรการควบคุมการเข้าใช้บริการที่มีช่วงระยะเวลานานกว่า เมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา

บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้า และการให้บริการลูกค้า Home Service รวมจำนวน 15,642.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 894.02 ล้านบาท หรือ 6.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากยอดขายสินค้า และบริการที่เติบโตขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เช่น สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และสินค้ากลุ่มปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงบริษัทฯ มีการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 25.28% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 25.83%

นายคุณวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ภาครัฐยังได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงได้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ขณะเดียวกันดัชนีราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 จึงช่วยเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการเกษตร เช่น พื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีการเติบโตที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ได้จัดงาน ส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน Homepro Day และ Homepro Super Expo และกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ลูกค้าไม่สามารถเลือกซื้อสินค้าที่สาขาได้ตามปกติ ทำให้ลูกค้าเลือกหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทฯ มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการและการใช้งานของลูกค้ามากขึ้น ผ่าน 3 แอปพลิเคชั่น ได้แก่ HomePro Application, Home Service Application และ Home Card Application รวมถึงช่องทาง Omni Channel และพัฒนาการให้บริการช่วยเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Shop4U โดยนอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกด้วยบริการขนส่งสินค้าภายในวันที่มีการสั่งซื้อ (Same Day Delivery) หรือจะเลือกมารับสินค้าที่สาขา (Click and Collect) โดยช่องทางเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที

โฮมโปร ยังได้มีการพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ที่มีความต้องการด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอยู่บ้านมากขึ้น โดยเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และด้านสุขอนามัย กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน หรือกลุ่มสินค้าสำหรับทำอาหารที่บ้าน ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและบริการ ร่วมกับคู่ค้าโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้น

นายคุณวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนด้านงานบริการ บริษัทฯ พัฒนาแอปพลิเคชั่น Home Service ที่มีงานบริการเกี่ยวกับบ้านอย่างครบครัน ด้วยทีมงานมืออาชีพ สามารถเรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟดับ แอร์ไม่เย็น น้ำไม่ไหล เพียงติดต่อผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นหรือผ่านช่องทาง Call Center และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเข้าบริการ ทีมช่างจะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ด้วยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ก่อนการให้บริการ

"บริษัทยังมีกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบกระจายสินค้าให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทฯ มีมาตรการบริหารจัดการ ป้องกันและควบคุมโรค ในที่ศูนย์กระจายสินค้า (Bubble and Seal) ที่เป็นการจำกัดพื้นที่โดยการแยกผู้ที่ติดเชื้อไปรักษา และกักกันผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยง ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง นอกจากนี้ในช่วงที่ขาดแคลนสถานพยาบาล และการให้บริการสาธารณสุข บริษัทฯ ได้สร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าวังน้อย โดยบริหารร่วมกับโรงพยาบาลราชธานี เพื่อรักษาชีวิตของพนักงาน และขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยในชุมชนรอบข้างอีกด้วย" นายคุณวุฒิ กล่าว