ผู้เขียน หัวข้อ: ส.ค้าปลีก ร่วมตรึงราคาสินค้าถึง Q1/65-เสนอมาตรการเร่งแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตค่าครองชีพสูง  (อ่าน 360 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0
ส.ค้าปลีก ร่วมตรึงราคาสินค้าถึง Q1/65-เสนอมาตรการเร่งแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตค่าครองชีพสูง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ตระหนักถึงสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 64 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของประชาชน ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตโควิด-19 สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย จึงเริ่มตรึงราคาในหมวดสินค้าจำเป็นตั้งแต่เดือนพ.ย. 64 จากนั้นในเดือนม.ค. 65 จึงขยายสู่หมวดอาหารสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่

"ตลอดเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการ จนถึงจบไตรมาส 1/65 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด สมาคมฯ จึงขอร่วมมือกับภาครัฐนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้ฝ่าวิกฤตค่าครองชีพสูงนี้ไปให้ได้" นายญนน์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาที่เกิดจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่เจอผลกระทบ 2 เรื่อง ทั้งค่าครองชีพสูงขึ้น และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ซึ่งการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด

ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอนำเสนอมาตรการเพื่อที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในภาวะที่ค่าครองชีพสูงและเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ดังนี้

-มาตรการในส่วนของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย ได้แก่

1. ตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ซึ่งสมาคมฯ และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย ยืนยันที่จะตรึงราคาสินค้าฯ จนถึงจบไตรมาส 1/65 ทั้งนี้ นโยบายการตรึงราคาจะมีการประเมินเป็นรายไตรมาส

2. เตรียมสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน โดยสมาคมฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

3. ช่วยฟื้นฟู SMEs ไทย โดยสมาคมฯ และภาคีเครือข่ายจะเร่งขยายในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ SMEs ไทยผ่านโครงการ Digital Supply chain Finance ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งการขยายและเพิ่มช่องทางการขายให้กับ SMEs เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังคงยืนยันที่จะพยุงการจ้างงานในระบบค้าปลีกให้อยู่ที่ 1.1 ล้านอัตรา

-มาตรการในส่วนของภาครัฐ ได้แก่

1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีวงเงินงบประมาณถึง 3.1 ล้านล้านบาท ให้มีการอนุมัติและดำเนินการเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

2. การพยุงราคาพลังงานให้คงที่ โดยการใช้ทุกมาตรการเพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด ถึงแม้รัฐบาลได้มีมาตรการพยุงราคาน้ำมันปรับลดภาษีอัตราน้ำมันดีเซลสรรพสามิตและน้ำมันอื่นๆ 3 บาท ต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงควรพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งถือว่ามีสัดส่วนถึง 8-10% ของต้นทุนสินค้า

3. กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ "คนละครึ่ง" และ โครงการ "ช้อปดีมีคืน" ที่ภาครัฐดำเนินการได้ดีอยู่แล้วในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และเพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบจากผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการ "ช้อปดีมีคืน" เฟส 2 เพิ่มเติม และให้ยืดทั้งระยะเวลาโครงการ รวมถึงวงเงินที่สามารถใช้จ่าย โดยเพิ่มจาก 30,000 บาท เป็น 100,000 บาท ทั้ง 2 โครงการจะเป็นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทย ให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ต่อไป

"สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย ขอยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเร็วที่สุด สมาคมฯ พร้อมที่จะเร่งผลักดันและใช้ทุกสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง การร่วมแรงร่วมใจกันครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก และประเทศไทยของเราจะได้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิม" นายญนน์ กล่าว