ผู้เขียน หัวข้อ: ราคาน้ำมันดัน CPI ก.พ.พุ่ง 5.28%สูงสุดรอบ 13 ปีนับจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย  (อ่าน 419 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
พาณิชย์ เผยราคาน้ำมันดัน CPI ก.พ.พุ่ง 5.28%สูงสุดรอบ 13 ปีนับจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.65 อยู่ที่ระดับ 104.10 ขยายตัว 5.28%YoY จากตลาดคาด 4.0-4.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.20 ขยายตัว 1.80%YoY

สาเหตุหลักที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.28% มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ ประกอบกับฐานในเดือน ก.พ.64 ต่ำสุดในรอบปี 64 ส่งผลให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นด้วย แต่หากเทียบกับเดือน ม.ค.65 CPI สูงขึ้นเพียง 1.06% (MoM) เนื่องจากราคาเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ลดลง

"สาเหตุหลักมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์...เป็นระดับเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย หลังอิรัคบุกคูเวต" นายรณรงค์ กล่าว
โดยราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.64 สูงขึ้น 29.22% จาก 19.22% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้าปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.64 สูงขึ้น 4.51% จาก 2.39% ในเดือน ม.ค.65 อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น

"หากเปรียบเทียบราคาหน้าโรงงานหรือหน้าฟาร์มจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาที่ขายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะราคาสินค้าจำเป็นที่รัฐบาลเข้าไปดูแลเรื่องค่าครองชีพไปอย่างมีประสิทธิภาพ" นายรณงค์ กล่าว
นอกจากนี้ดัชนี CPI ยังปรับตัวสูงขึ้น 1.06% จากเดือน ม.ค.65 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจาก 1.13% ในเดือน ม.ค.65 ตามการลดลงของเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ รวมทั้งการสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลงของไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2565) ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รายได้เกษตรกร ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเครื่องชี้วัดเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นายรณรงค์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาสกัดเงินเฟ้อ เพราะเป็นการเพิ่มจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงิน และยังเป็นการเพิ่มขึ้นในระยะ 1-2 เดือน ต้องดูในระยะยาว อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก

"การใช้มาตราการสกัดเงินเฟ้อไม่ใช่ดูแค่เพียงอัตราเติบโตอย่างเดียวต้องดู GDP ค่าเงิน หรือภาวะต่างๆ อาทิ สงคราม ภัยธรรมชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปิดพร้อมๆ กัน

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลได้ โดยภาวะเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

"เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้สะท้อนถึงค่าครองชีพอย่างแท้จริง เพราะต้องดูองค์ประกอบจากรายได้ รายจ่าย กำลังซื้อด้วย เงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ใช่สัญญาณที่ไม่ดี แต่เป็นการ alert ให้หน่วยงานดูแลใกล้ชิด ซึ่งธปท.ดูแลอยู่แล้ว" นายรณรงค์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.65 ยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 64 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง แต่สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม

โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 65 ยังคงมีความเสี่ยง และเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งจะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมในเดือน มี.ค.65

"มั่นใจว่าแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจะมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม ไม่ใช่การออกมาตรการเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากราคาพลังงานซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ขณะที่ฐานต่างกันมากจากปีที่แล้ว และคิดว่าทิศทางเงินเฟ้อจะมีความผันผวนมาก เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์สู้รบจะยืดเยื้อแค่ไหน คิดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้น่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 64 แต่คงไม่ปรับคาดการณ์บ่อยๆ ยกเว้นมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนแรงเข้ามา" นายรณรงค์ กล่าว