ผู้เขียน หัวข้อ: ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล-น้ำมันเตาให้กฟผ.6 เดือนบรรเทาภาระค่าไฟของประชาชน  (อ่าน 404 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Jessicas

  • *
  • กระทู้: 511
  • Popular Vote : 0
ครม.ให้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล-น้ำมันเตาให้กฟผ.6 เดือนบรรเทาภาระค่าไฟของประชาชน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 ก.ย.65 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันกว่า 60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1-1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงเนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลงด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้จากภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นมาก กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจาก LNG มาเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทำให้หลังจากนี้จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซล 200 ล้านลิตรต่อเดือน และน้ำมันเตา 35 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน คิดเป็นเงินภาษี 7 พันล้านบาท โดยเงินในส่วนนี้ได้นำไปช่วยในการตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

"การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือ 0% นี้ สำหรับการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น การลดภาษีในส่วนนี้ จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1-1.50 บาทต่อยูนิต เป็นการช่วยตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 9 แห่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมเข้าร่วมมาตรการนี้" นายอาคม กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีสภาพคล่องประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศได้ถึงเดือน พ.ค.65 ส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 3 บาทต่อลิตรในช่วงที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแค่พยุงราคาน้ำมันดีเซลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเรื่องสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย

รมว.คลัง ยอมรับว่า มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไป 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ก็เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังยังเชื่อว่ารายได้ที่หายไป จะไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากจากภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 5 เดือนแรกปีงบ 2565 (ต.ค.64-ก.พ.65) ยังเกินเป้าหมายอยู่ 8.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย