ผู้เขียน หัวข้อ: อุตตม ชูแนวคิด 'รีสตารท์ ท่องเที่ยวไทย' ผลักดัน  (อ่าน 370 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
อุตตม ชูแนวคิด 'รีสตารท์ ท่องเที่ยวไทย' ผลักดันเป็นเครื่องยนต์ฟื้นศก.อีกครั้ง

นายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย นำทีมเข้าพบนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกและฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

นายอุตตม กล่าวว่า ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยก่อนเกิดปัญหาโรคโควิดระบาด ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันรายได้ดังกล่าวหายไปเกือบหมด ทำให้ผู้ประกอบการ แรงงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้เดือดร้อนอย่างมาก ดังนั้น พรรคฯ จึงเข้ารับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อช่วยกันผลักดันให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอีกครั้ง

นายอุตตม กล่าวภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนว่า การท่องเที่ยว คือเครื่องยนต์ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และทำได้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นพรรคฯ จึงขอเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ 'รีสตารท์การท่องเที่ยว' ครอบคลุมการเยียวยา การฟื้นฟู และการพัฒนายั่งยืน โดยจะดำเนินการใช้ประโยชน์จากแนวนโยบายการตั้ง 'กองทุนสร้างอนาคต SME ไทย'

ทั้งนี้ จากงบประมาณกองทุน SME ทั้งหมด 1 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็นการจัดตั้ง 'กองทุนสร้างอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว' ขนาด 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจ ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกกลุ่มย่อย ครอบคลุมทุกสาขาทั้ง 13 สาขาอาชีพภายใต้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และไม่เฉพาะเจาะจงเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

สำหรับกองทุนดังกล่าว จะใช้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวแบบครบวงจร พัฒนาขีดความสามารถ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และบุคลากรในอุตสาหกรรม รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เห็นพ้องกับภาคเอกชนว่า ต้องเริ่มจากฐานราก ชุมชน เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว และเป็นการสร้างงานในชุมชน เพื่อไม่เกิดปัญหาแรงงานกระจุกตัวในเมืองหลวง

'ผมเห็นพ้องกับที่ประชุมว่า วันนี้วิกฤติของการท่องเที่ยว สามารถพลิกเป็นโอกาสได้ เราจึงต้องมียุทธศาสตร์รีสตารท์การท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสมารถให้กับผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ทุกภูมิภาค วันนี้ได้รับเกียรติและโอกาสจาก สทท. มารับฟัง และให้กำลังใจทุกท่าน รวมถึงได้แชร์แนวคิดหลักการจากการประชุมว่า การบรรเทาแก้ไขปัญหาระยะสั้นต้องอาศัยการหารืออย่างใกล้ชิดของภาครัฐและเอกชน เพื่อการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด มีความครอบคลุม ทั้งนี้ มองว่าวิกฤติการท่องเที่ยวถือเป็นโอกาสในตัว ซึ่งพรรคฯ ได้เสนอแนวความคิดยุทธศาสตร์รีสตาร์ทการท่องเที่ยวไทย ซึ่งต้องมีปัจจัยพร้อมทั้งความร่วมมือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายใหญ่ รายเล็ก ภาครัฐ เอกชน และต้องมีเครื่องมือพิเศษ คือ การเข้าถึงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระยะยาวด้วยการจัดตั้งกองทุน ซึ่งทางทีมก็จะนำความเห็นวันนี้ไปดำเนินการต่อไป' นายอุตตม กล่าว
ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า ปี 65 นี้จะเป็นปีแห่งการรีสตาร์ทการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยสิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้ คือต้องดำเนินการเรื่อง Tourism Clinic เพื่อดูแลภาคการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาลืมตาอ้าปาก และฟื้นเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่องโควิด แต่วันนี้ประเทศไหนเตรียมความพร้อมได้ดีกว่า โอกาสย่อมมีมากกว่า ทางภาคการท่องเที่ยวมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ขอให้ภาครัฐส่งเสริมด้วยยุทธศาสตร์ 3 เติม 2 ลด คือ 1.เติมทุน 2.เติมลูกค้า 3.เติมความรู้ และ 2 ลด คือลดต้นทุน และลดความยุ่งยาก โดยใช้ทำแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการนำเสนอให้เห็นภาพความเสียหายของภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด โดยระบุว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 4 ล้านคน ขณะที่ปี 63 และปี 64 นักท่องเที่ยวหายไป 90% เหลือไม่ถึงปีละ 4 แสนคน ส่งผลกระทบกับรายได้ของคนที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน โดยมีผู้ประกอบการประมาณ 3 ล้านคน และลูกจ้างประมาณ 4 ล้านคน

พร้อมกันนี้ ได้สะท้อนถึงปัญหาของผู้ประกอบการว่าต่างประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และไม่มีแหล่งทุนที่จะขับเคลื่อนต่อในอนาคต รวมถึงยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่แรงงานลูกจ้างภาคท่องเที่ยวที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน ตกงานแล้วกว่า 70%

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะต้องผ่อนปรนมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเข้ามาได้สะดวกขึ้น ภายใต้การควบคุมโรคระบาดที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันมาตรการที่รัฐใช้ยังเป็นอุปสรรคมาก ขณะที่หลายประเทศมีมาตรการที่ยืดหยุ่นกว่า และสามารถพลิกฟื้นการท่องเที่ยวได้แล้ว อาทิ มัลดีฟส์ ตุรกี ดูไบ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรสนับสนุนเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ โดยกระจายเม็ดเงินให้ถึงส่วนภูมิภาค ชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกทาง

'ขอบคุณทีมคุณอุตตม ที่มารับฟังปัญหาการท่องเที่ยวไทย โดยภาคเอกชนพร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาการท่องเที่ยวไทย และเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่' นายชำนาญ กล่าว
นายอุตตม กล่าวภายหลังการหารือกับผู้บริหาร สทท. ว่า การมาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน ในการเร่งตกผลึกปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญ ประชาชนที่กำลังลำบาก เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายของพรรค

สำหรับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ เช่น เรื่องปัญหาน้ำมัน นายอุตตม มองว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อน ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดูปัจจัยทั้งหมด และเลือกแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเร็ว อย่างเรื่องน้ำมันถือเป็นต้นทุนของสินค้า และภาคบริการ หากไม่ได้รับการจัดการในเวลาและแนวทางที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจได้

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ แม้ว่าจะโตได้ 3-4% แต่มองว่ามีความท้าทายพอสมควรว่า ถ้าจะเป็นเช่นนั้นได้ การท่องเที่ยวจะไปได้จริงไหม เรื่องต้นทุนสินค้า จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด แต่ของแพงไหม ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้น การประเมินในมหภาคจะเป็นจริงได้ต้องมีมาตรการ แผนงานที่จะทำให้เศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนได้จริง ส่วนประเด็นการเมืองเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล นายอุตตม มองว่า การที่จะประเมินว่าเหตุการณ์ไปอย่างไร คงไม่สามารถตอบได้หมด แต่ในส่วนของพรรคฯ ได้เร่งทำงานในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้มีความพร้อมหากมีการเลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งวันนี้พรรคฯ ก็ทำงานเต็มที่