ผู้เขียน หัวข้อ: สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4/64 ขยายตัว 1.9% ทั้งปี 64 โต 1.6%  (อ่าน 382 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ luktan1479

  • *
  • กระทู้: 1,132
  • Popular Vote : 0
สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4/64 ขยายตัว 1.9% ทั้งปี 64 โต 1.6%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 1.9% จากที่ลดลง 0.2% ในไตรมาสที่ 3/64 เป็นผลจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ GDP ปี 64 โต 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ด้านการผลิต ขยายตัวทั้งในภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 3/64 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ลดลงต่อเนื่อง

ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 0.3% มีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมโรค รวมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และสนับสนุนกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้น ส่งผลกระทบในทางบวกต่อการจ้างงาน รายได้ และกำลังซื้อของครัวเรือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีปัจจัยลบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัว 8.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม

การลงทุนรวมลดลง 0.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.9% จากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสที่ 3/64 ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.7% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 6.2% ในไตรมาส 3/64

ด้านการส่งออก ขยายตัว 17.7% และการนำเข้า 16.6% โดยการส่งออกสินค้ายังขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/64 เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งการส่งออกข้าวในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ในระดับสูงทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาข้าวของไทยลดลง ทำให้สามารถแข่งขันทางด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ ได้มากขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ขยายตัวได้ 1.6% สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ 1.2% เนื่องจากผลการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/64 ที่ขยายตัวได้ 1.9% หลังจากที่ภาครัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข ส่งผลให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ตลอดจนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในต้นเดือนพ.ย. 64 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น

โดยในปี 64 มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 18.8% อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 1.2% ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คิดเป็น 2.2% ของ GDP การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 0.3% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.2% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 3.8%

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงการใช้เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดในปี 63-64 ว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ในภาพรวม ในปี 63 เบิกจ่าย 1.9 แสนล้านบาท ในปี 64 เบิกจ่าย 2.7 แสนล้านบาท รวมกันประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ซึ่งการรักษาดังกล่าว มีทั้งจากการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท , พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท , งบกลาง และงบประมาณของหน่วยส่วนอื่น ๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้มาจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าไม่มีการยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากการรักษาฉุกเฉิน ดังนั้นการที่โรงพยาบาลเอกชน ไปเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อนที่มีการรักษาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำเรื่องขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโควิด-19 ให้กับประชาชน อีกจำนวน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นค่ารักษาที่จ่ายไปแล้วในช่วง พ.ย. 64 - ม.ค. 65 จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท และเป็นค่ารักษาพยาบาลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย.65 อีก 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา

ทั้งนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท ยังเหลือเงินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้สำหรับแผน 1.ด้านสาธารณสุข จำนวน 1.9 แสนล้านบาท แผน 2.เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด จำนวน 1.6 แสนล้านบาท และแผน 3.เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท

ในส่วนของการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้สิ้นสุดไปแล้วในปี 64 มีการอนุมัติเงินกู้แล้ว 9.82 แสนล้านบาท เบิกจ่ายจริงแล้ว 9.44 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งอาจจะมีล่าช้าไปบ้างจนถึงเดือนก.ย. 65 ซึ่งเป็นส่วนน้อย ซึ่งโดยสรุปแล้ว ยอดการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การใช้ในแผน 1 จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท, แผน 2 ที่ 7.9 แสนล้านบาท และแผน 3 ที่ 2.9 แสนล้านบาท โดยคงเหลือวงเงินกู้ที่ใช้ไม่ทันประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น