ผู้เขียน หัวข้อ: กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่ง  (อ่าน 343 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Jenny937

  • *
  • กระทู้: 644
  • Popular Vote : 0
กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่งจับตาอำนาจเหนือตลาด

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ตาม ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปี 2561-2564 ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง

โดยเมื่อจำแนกตามพฤติกรรม พบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกัน จำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิด จำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2564 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า

"การทำหน้าที่ของเรา พยายามทำหน้าที่เพื่อลบคำปรามาสที่บอกว่าการมีกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ข้อพิสูจน์ คือ การดำเนินคดีต่างๆ ที่ขณะนี้เราตัดสินสิ้นสุดแล้ว 14 เรื่อง ทั้งคดีอาญา คดีปกครอง ทั้งลงโทษปรับ รวมทั้งส่งต่อไปอัยการ เราได้เร่งรัดการทำงาน พยายามดูแลกฎกติกา การกระทำความผิดภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้น แต่ปณิธานของเราไม่ใช่จำนวนคดี จำนวนค่าปรับ สิ่งสำคัญคือการวางรากฐานของการกำกับดูแลกฎกติกาการแข่งขันทางการค้าที่ควรจะเป็น" นายสกนธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดคิดมาก่อน คือการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด จะเห็นได้จากจำนวนการยื่นเรื่องให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจ และการแจ้งเรื่องการควบรวมธุรกิจ ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 24 เรื่อง สิ่งสำคัญคือ มูลค่าการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจรวมของประเทศ

แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ การกำกับดูแลการขอควบรวมธุรกิจในขณะนี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจบริการ ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก และการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่า 30% ซึ่งภาคธุรกิจที่ขอให้พิจารณาควบรวมธุรกิจดังกล่าวนี้ มีประเด็นที่จะต้องเฝ้าระวัง และกำกับดูแลต่อไป เพราะที่ยื่นขออนุญาตเข้ามากว่า 40 เรื่องนี้ มีความน่ากังวลที่จะเข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาด

นายสกนธ์ กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (Megatrends) อย่างรวดเร็ว และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประกอบธุรกิจ ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น และจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มจะควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงได้กำหนดนโยบายและทิศทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ดังนี้

1) การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด โดยในปี 2564 มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท อาทิ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ

2) การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

3) การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

นายสกนธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะมีการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ

รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า

"รูปแบบการขยายการทำธุรกรรม ที่อาจขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอาจจะมีมากขึ้น มีทั้งการรวมธุรกิจภายในประเทศเอง และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการรวมธุรกิจในแวดวงของเทคโนโลยี ที่วันนี้ แม้มูลค่าธุรกิจอาจจะยังไม่มาก แต่การรวมธุรกิจที่นำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดในเชิงการจัดการ ในเชิงเทคโนโลยีต่างๆ เป็นประเด็นที่เราต้องวางกฎกติกา วางแนวทางในการดูแลเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น" นายสกนธ์ ระบุ