ผู้เขียน หัวข้อ: ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)  (อ่าน 387 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ailie662

  • *
  • กระทู้: 817
  • Popular Vote : 0
ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ' คงอันดับเครดิต ที่ 'A-'

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency Issuer Default Ratings) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT เป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีสเถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ' และคงอันดับเครดิตที่ 'A-' พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น (Short-Term Local-Currency Issuer Default Ratings) ที่ 'F1' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)'

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวมีปัจจัยพิจารณามาจากการที่ฟิทช์ทำการทบทวนปัจจัยการให้การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นโดยตรงของ SCBT ได้เปลี่ยนจาก Standard Chartered Bank ในสหราชอาณาจักร (SCB, A+/Negative/a) เป็น Standard Chartered Bank (Singapore) (SCBS; A+/Stable/a) หลังจากการจัดตั้งศูนย์กลางของกลุ่มสำหรับภูมิภาคอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์แล้วเสร็จ ฟิทช์มองว่าการเชื่อมโยงการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ SCBT กับกลุ่ม SCB ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่การสนับสนุนพิเศษ (extraordinary support) ในกรณีที่จำเป็นน่าจะส่งผ่านมาจาก SCBS ดังนั้นการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCBT นั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCBS

พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating: SSR) ที่ 'a-'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของ SCBT พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น การประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT สะท้อนถึงการมีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจาก SCBS ซึ่งเป็นธนาคารแม่โดยตรงรายใหม่ ในกรณีที่จำเป็น โดยพิจารณาจากการถือหุ้นเกือบทั้งหมดในธนาคารลูกในประเทศไทย (99.9%) บทบาทของ SCBT ในการสนับสนุนธุรกิจระดับภูมิภาคของกลุ่ม การเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อชื่อเสียงที่สูงซึ่งอาจเกิดขึ้นหากธนาคารลูกในประเทศไทยผิดนัดชำระหนี้ อันดับเครดิตสากลของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารแม่อยู่ 1 อันดับเนื่องจากธนาคารมีบทบาทสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่แต่ตั้งอยู่ในตลาดที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักสำหรับกลุ่ม (non-core market) อันดับเครดิตสากลของ SCBT ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นธนาคารลูกที่มีสาระสำคัญในแผนการฟื้นฟูกิจการของกลุ่มและยังมีความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior-debt buffer ของกลุ่ม

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT พิจารณาจากการให้การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ ฟิทช์เชื่อว่าโครงสร้างอันดับเครดิตของ SCBT ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่มีความสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของ SCBT สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+'

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับตัวลดลงในความสามารถของ SCBS ที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร) จะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารและอันดับเครดิตสากลของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ

การปรับตัวลดลงของโอกาสที่ SCBS จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของธนาคารลูกได้รับการปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% พร้อมทั้งการลดลงของอำนาจควบคุมการบริหารงานและความเชื่อมโยงทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้น

การปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (ที่ 'A-') จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับจนอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+' แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์จะพิจารณาความแข็งแกร่งโครงสร้างเครดิตของ SCBT เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถหรือโอกาสของธนาคารแม่ในการให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะไม่ได้รับการเพิ่มอันดับ หากไม่ได้มีการปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-'

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้วจึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ'
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ'
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb'
ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน
ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ที่หุ้นที่ 'a-'
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'