ผู้เขียน หัวข้อ: ธปท.เผยศก.ไทย ธ.ค.64 ปรับดีขึ้น จากส่งออก-ท่องเที่ยว-ใช้จ่ายในประเทศ  (อ่าน 428 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ dsmol19

  • *
  • กระทู้: 1,214
  • Popular Vote : 0

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหา supply disruption ที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนปรับดีขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้น

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเพราะได้รับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และปัญหาการขนส่งคลี่คลายทำให้มีการผลิตและเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างในช่วงก่อนหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวต่อเนื่อง

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ปรับดีขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์ตามอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น และหมวดยานยนต์ที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คลี่คลายลงจากการที่ได้รับจัดสรรจากผู้ผลิตในต่างประเทศ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่มีการเร่งนำเข้าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ขณะที่การนำเข้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วในช่วงต้นปีงบประมาณ 2565

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จากแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ

"เงินบาทในเดือนธ.ค. อ่อนค่าจากเดือนพ.ย. หลังประเทศหลักส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับยังมีความกังวลเศรษฐกิจไทยจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่าทุกสกุล" น.ส.ชญาวดี ระบุ
สำหรับในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง ซึ่งมีส่วนทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังคงเปราะบาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าไตรมาสก่อน

"ถ้าดูจากดัชนีต่างๆ จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ฟื้นและเติบโตจากไตรมาส 3 แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการต้องรอจากสภาพัฒน์...เมื่อมองภาพรวมแล้ว ไตรมาส 4 ก็ออกมาดีกว่าที่เราคาดไว้ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว" น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565 น.ส.ชญาวดี ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่อาจปรับสูงขึ้น ตลอดจนปัญหา Supply disruption และการระบาดของโควิดในภาพรวมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น