ผู้เขียน หัวข้อ: ฟื้นคืนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย  (อ่าน 403 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
ฟื้นคืนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2022, 03:50:19 am »
ฟื้นคืนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ... เดินหน้าจัดทำ FTA เร่งสร้างแต้มต่อก่อนคู่แข่ง

การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าเร่งตัวอีก 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี สำหรับในปีนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียที่มาจากราคาน้ำมันและกำลังซื้อจะเป็นแรงส่งสำคัญให้การส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียในปี 2565 นี้มีโอกาสฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 แตะมูลค่าใกล้เคียง 1,900 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 15 โดยสินค้าที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญประกอบด้วยรถยนต์นั่ง รถกระบะ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารฮาลาล (อาหารทะเลแปรรูป ข้าว อาหารแปรรูป) แผ่นไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ท่อยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า (โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ)
ในปัจจุบันซาอุดีอาระเบียนำเข้าสินค้าไทยมากที่สุดในอาเซียน โดยสินค้าไทยสามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายแม้จะยังมีไม่มากนัก แต่ไทยคงต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดซาอุดีอาระเบียเช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่ไทยต้องเฝ้าระวังอย่างมากมีสินค้าทับซ้อนกับไทยทั้งรถยนต์นั่ง แผ่นไม้ อาหารทะเลแปรรูป ตู้เย็น ขณะที่ต้องเฝ้าระวังสินค้าข้าว เครื่องซักผ้าจากเวียดนาม
การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียครั้งแรกในรอบ 30 ปี ทำให้หลังจากนี้คงจะได้เห็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้ากับซาอุดีอาระเบียรวมเพียง 7,301 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนใหญ่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและเคมีภัณฑ์สูงถึง 5,662 ล้านดอลลาร์ฯ แต่การส่งออกสินค้าที่สร้างรายได้กลับมีเพียง 1,638 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้สร้างโอกาสใหม่ให้แก่สินค้าและธุรกิจไทยในระยะต่อไป ขณะเดียวกันก็มีประเด็นด้านการแข่งขันที่ไทยกำลังถูกไล่ตามมาจากคู่แข่งเวียดนามและอินโดนีเซียในตลาดซาอุดีอาระเบียอย่างน่าจับตา

สินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการของซาอุดีอาระเบียได้โดดเด่นที่สุดในอาเซียน ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นหลัก แม้จะร่ำรวยแต่ก็มีข้อจำกัดด้านการผลิตจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากถึงปีละ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักถึงร้อยละ 20 ของการนำเข้าของซาอุดีอาระเบีย ตามมาด้วยสหรัฐฯ (ร้อยละ 10) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 7) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 12 ที่ซาอุดีอาระเบียนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของการนำเข้าทั้งหมด และไทยมีความโดดเด่นที่สุดในอาเซียนตามมาด้วยอินโดนีเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ตามลำดับ
หากเทียบกันแล้วในบรรดาสินค้าสำคัญที่ซาอุดีอาระเบียต้องการนำเข้า 30 ลำดับแรก ที่คิดเป็นร้อยละ 44 ของการนำเข้าทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย ในเวลานี้สินค้าไทยสามารถตอบสนองความต้องการของชาวซาอุดีอาระเบียได้อย่างหลากหลายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อาทิ รถยนต์นั่ง ชิ้นส่วนสมาร์โฟน เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ HDDs ข้าว โทรทัศน์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ รถกระบะ อาหารแปรรูป อีกทั้งสินค้าดังกล่าวของไทยยังสามารถทำตลาดได้ค่อนข้างโดดเด่น ยกเว้นสมาร์ทโฟน ยานยนต์ และยางล้อที่เริ่มมีสัญญาณการแข่งขันมากขึ้นจากคู่แข่งของไทยทั้งอินโดนีเซียและเวียดนาม
ในบรรดาสินค้าที่ซาอุดีอาระเบียต้องการหากไม่รวมสินค้าอุตสาหกรรม นับว่าสินค้าอาหารมีนัยสำคัญต่อไทย ข้าว เป็นอาหารที่ซาอุดีอาระเบียต้องการนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยส่วนใหญ่นำเข้าข้าวบาสมาติของอินเดียเป็นหลักถึงร้อยละ 78 ทำให้ข้าวไทยตอบโจทย์เพียงเล็กน้อย(ร้อยละ 1.7) รวมถึงเวียดนามเอง (ร้อยละ 1.5) ก็ยากจะแข่งขัน อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แห้งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการทำตลาดได้ค่อนข้างสูงโดยครองตลาดได้ร้อยละ 54 ร้อยละ 36 และร้อยละ 25 ตามลำดับ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดขยาดตลาดได้อีกในอนาคต สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่ซาอุดีอาระเบียต้องการบริโภคและเป็นโอกาสในอนาคตหากไทยทำได้ ได้แก่ ข้าว เนื้อ สัตว์ปีก นม อาหารแปรรูป ชีส ขนมปัง ข้าวโพด บาร์เลย์ น้ำตาล ผลไม้ กาแฟ
สินค้าจากคู่แข่งอินโดนีเซียหลายรายการเริ่มแข่งขันกับไทยในช่วงที่ผ่านมา อาทิ รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์ยาง (ซาอุดีอาระเบียพึ่งการนำเข้าจากอินโดนีเซียร้อยละ 4.8 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ) โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูปซาอุดีอาระเบียนำเข้าจากอินโดนีเซียถึงร้อยละ 30 รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ซึ่งสินค้าอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมมีความน่าเชื่อถือในด้านการผลิตสินค้าอาหารที่ยึดหลักปฏิบัติตามหลักชารีอะห์จึงมีความได้เปรียบที่ท้าทายการผลิตสินค้าอาหารของไทยในการทำตลาดซาอุดีอาระเบีย สำหรับเวียดนามในเวลานี้มีสินค้าต่างกับไทยโดยส่วนใหญ่ทำตลาดในกลุ่มสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า รองเท้าเป็นหลัก แต่อาจต้องเฝ้าระวังสินค้าข้าวที่อาจมาแข่งกับข้าวไทยมากขึ้น
การแข่งขันของไทยกับคู่แข่งในขณะนี้ล้วนอยู่ในสถานะเท่าเทียมกันโดยต้องเสียภาษีนำเข้าที่เฉลี่ยร้อยละ 5.6 (MFN rate) ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ากับซาอุดีอาระเบียมีจำกัดอย่างมาก เนื่องจากซาอุดีอาระเบียแม้มีการค้าขายกับทั่วโลกแต่ก็เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิด มีการจัดทำความตกลง FTA กับภายในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นหลัก อาทิ กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) และ Pan-Arab Free Trade Area (PAFTA) ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงสิงคโปร์ที่นำหน้าประเทศอื่นในโลกด้วยการมีความตกลงกับกลุ่ม GCC ก่อนใคร ระหว่างนี้ก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังเจรจาความตกลงอยู่ อาทิ เกาหลีใต้ จีน อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดอันดับ 2 ของไทยในตะวันออกกลางรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งในแง่การเป็นตลาดนับว่าน่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมากด้วยความที่เป็นตลาดร่ำรวยมีรายได้ต่อหัวสูงที่ราว 20,000 ดอลลาร์ฯต่อคนต่อปี น้อยกว่า UAE ครึ่งหนึ่ง แต่มีประชากร 30 ล้านคน มากกว่า UAE ถึงกว่า 3 เท่าตัว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 นี้ด้วยแรงฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการปรับเพิ่มของราคาพลังงานช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอานิสงส์โดยรวมให้การส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียในปี 2565 กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติก่อนโควิด-19 โดยมีโอกาสเติบโตร้อยละ 15 แตะมูลค่าการส่งออกราว 1,900 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้งในระยะต่อไปสัญญาณบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์กับไทยน่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การทำธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างกันโน้มนำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักทำตลาดได้ตามมา มีความเป็นไปได้ว่าจะทำการส่งออกไทยไปซาอุดีอาระเบียเร่งตัวอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในเวลา 3 ปี แตะมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ฯ ขยับขึ้นเป็นคู่ค้าของไทยที่มีขนาดเทียบเคียงกับตลาดอังกฤษ ซึ่งแรงผลักดันสำคัญมาจากสินค้าอาหารฮาลาล (อาหารทะเลแปรรูป ข้าว เครื่องปรุงรส) ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ เรื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี การจะผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพส่วนหนึ่งคงต้องอาศัยแรงผลักดันของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ด้วยความที่ภูมิภาคตะวันออกกลางค่อนข้างปิด และยังไม่มีการจัดทำ FTA กับต่างชาติมากนัก หากอาศัยจังหวะที่รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียเริ่มสานสัมพันธ์ครั้งใหม่ต่อยอดเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันได้ก่อนชาติอื่นในอาเซียน โดยอาจเจรจาโดยใช้รูปแบบเดียวกับสิงคโปร์ผ่านความตกลง GCC ก็จะช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยได้มีโอกาสเข้าทำตลาดได้มากขึ้น