ผู้เขียน หัวข้อ: ความสัมพันธ์การทูต 2 ชาติมหาอำนาจตึงเครียด หลังรัสเซียสั่งขับนักการทูตสหรัฐ  (อ่าน 382 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Hanako5

  • *
  • กระทู้: 861
  • Popular Vote : 0
ความสัมพันธ์การทูต 2 ชาติมหาอำนาจตึงเครียด หลังรัสเซียสั่งขับนักการทูตสหรัฐ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า รัฐบาลรัสเซียได้สั่งขับนายบาร์เทิล กอร์แมน ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตสหรัฐ ออกจากประเทศ

นางแครีน ฌอง-ปิแอร์ รองโฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า การที่รัสเซียสั่งขับนายกอร์แมนออกนอกประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล

"การกระทำของรัฐบาลรัสเซียต่อผู้ช่วยเอกอัครราชทูตของเรา ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญของเจ้าหน้าที่ในสถานทูต ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศของเราจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่จะทำการสื่อสารระหว่างรัฐบาลสหรัฐและรัสเซีย" นางฌอง-ปิแอร์กล่าว
ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสหรัฐและรัสเซียเกิดขึ้น ท่ามกลางความกังวลที่ว่ารัสเซียใกล้เปิดฉากทำสงครามกับยูเครน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวยืนยันว่า เขาไม่มีแผนที่จะสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในยูเครน แม้มีความกังวลว่ารัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่รัสเซียจะทำการโจมตียูเครน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอีกเพียงไม่กี่วัน

"รัสเซียยังคงส่งกำลังทหารประชิดชายแดนยูเครน และเรามีเหตุผลที่จะเชื่อว่าพวกเขากำลังจัดฉากเพื่อหาเหตุโจมตียูเครน" ปธน.ไบเดนกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ดี ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีช่องทางการทูตที่จะผ่อนคลายวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะเปิดเผยแนวทางดังกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในวันนี้

ทางด้านนางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า นายบลิงเกนจะกล่าวถึงสถานการณ์ในยูเครนที่กำลังน่าวิตกในขณะนี้

"มีหลักฐานว่ารัสเซียกำลังใกล้โจมตียูเครน นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญมาก และนี่เป็นเหตุผลที่ท่านรัฐมนตรีบลิงเกนได้เดินทางมายังนิวยอร์กเพื่อยืนยันถึงการใช้แนวทางการทูตของเราเพื่อผ่อนคลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกให้โลกรับรู้ว่าเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงคราม" นางโทมัส-กรีนฟิลด์กล่าว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดในวิกฤตการณ์ยูเครนได้ทวีมากขึ้น ขณะที่มีความกังวลว่ารัสเซียกำลังใช้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดอนบาส เป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียมีความกังวลและกำลังจับตาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดอนบาส หลังจากมีรายงานการปะทะกันระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว RIA ของทางการรัสเซียรายงานว่า กองทัพยูเครนได้โจมตีกลุ่มกบฏในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งถือเป็นเขตหยุดยิงตามข้อตกลงมินสก์

ทางด้านกองทัพยูเครนได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแถลงว่า กลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในดอนบาสได้โจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนของประชาชน

"เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายประณามการที่รัสเซียละเมิดข้อตกลงมินสก์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดในขณะนี้" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุ

ทางด้านสหรัฐระบุเตือนว่า รัสเซียกำลังหาเหตุและจัดฉากเพื่อสร้างเงื่อนไขในการโจมตียูเครนได้ทุกขณะ

สภาดูมา ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ได้ให้การอนุมัติก่อนหน้านี้ต่อร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย

นายยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินโดยทันทีเพื่อลงนามเป็นกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระและมีอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์

"ยูเครนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ ขณะที่ประชาชนของเราที่อยู่ในดอนบาสจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ และปกป้องจากภัยคุกคามจากภายนอก รวมทั้งจะเป็นการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค" นายโวโลดินกล่าว
อย่างไรก็ดี หากปธน.ปูตินให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน เนื่องจากการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ จะถือเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์ ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส หลังจากที่ได้คร่าชีวิตของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังยูเครนถึง 15,000 คน