ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกรัสเซีย-ยูเครน ไฟสงครามที่ไม่เคยดับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  (อ่าน 357 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • *
  • กระทู้: 1,190
  • Popular Vote : 0
In Focusศึกรัสเซีย-ยูเครน ไฟสงครามที่ไม่เคยดับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ คงไม่มีข่าวไหนที่อยู่ในความสนใจและชิงพื้นที่บนหน้าหนึ่งของสื่อกระแสหลักทั่วโลกมากไปกว่าข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน สถานการณ์ตึงเครียดที่ยืดเยื้อยาวนานของทั้งสองฝ่ายได้มาถึงจุดแตกหักเมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ 22 ก.พ.ตามเวลาไทย เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศรับรองเอกราชของแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย

หลังออกแถลงการณ์รับรองเอกราชของ 2 แคว้นกบฏยูเครนได้ไม่นาน สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของรัสเซียได้เผยแพร่ภาพปูตินจรดปากกาในกฤษฎีกาเพื่อประทับตรายืนยันว่า รัสเซียจะให้การรับรองความมั่นคงและความปลอดภัยแก่แคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ... และหลังจากลงตราประทับรับรองเรียบร้อยแล้ว ผู้นำรัสเซียก็ส่งกองกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าประจำการใน 2 แคว้นดังกล่าวทันที โดยอ้างว่าเพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพและป้องกันเหตุนองเลือดอันอาจจะเกิดจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของกองทัพยูเครน

ข่าวรัสเซียส่งทหารเข้าตรึงกำลังในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากบรรดาชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ และบรรดาชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) นอกจากนี้ ยังทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก โดยหลังจากรัสเซียส่งทหารเข้าเสริมเขี้ยวเล็บในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ได้ไม่นาน ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว ขณะที่ราคาทองและน้ำมันพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่

ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (UN) กล่าวในวันอังคารว่า การกระทำดังกล่าวของรัสเซียถือเป็นการจงใจละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ... และเธอเชื่อว่า "ปูตินจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น"

และการคาดคะเนของโธมัส-กรีนฟิลด์ก็กลายเป็นจริง เมื่อปูตินตัดสินใจประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครนทั้งทางบก ทะเล และอากาศในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ. ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์รุกรานประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปูตินอ้างว่าเป็นการป้องกันผลประโยชน์ของรัสเซีย เพราะที่ผ่านมา รัสเซียให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองประชาชนเชื้อสายรัสเซียที่กระจายตัวและอาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอดีตสหภาพโซเวียต การคุ้มครองประชาชนเหล่านี้จึงถือเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียเช่นกัน

*ย้อนรอยจุดเริ่มต้นความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ยูเครนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงในปี 2534 ซึ่งส่งผลให้ดินแดนต่าง ๆ แยกตัวออกเป็นประเทศเอกราช โดยที่ยูเครนซึ่งมีพรมแดนทางตะวันออกเกือบทั้งหมดติดกับรัสเซีย มีประชากรส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกมีแนวคิดและวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับรัสเซีย และใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ ขณะที่ประชากรในฝั่งตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ติดกับยุโรปกลับมีแนวคิดและวิถีชีวิตใกล้เคียงกับชาวยุโรป และเริ่มเปิดรับระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกและตะวันออก ส่งผลให้ประชาชนในประเทศซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่ฝักใฝ่สหภาพยุโรป และฝ่ายที่ฝักใฝ่รัสเซียนั้น มีปัญหาไม่ลงรอยกันมาโดยตลอด

ฟางเส้นสุดท้ายระหว่างรัสเซียและยูเครนขาดสะบั้นลงในปี 2557 เมื่อประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าอยู่ฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียและมีรัฐบาลรัสเซียหนุนหลังอยู่นั้น ปฏิเสธไม่นำยูเครนเข้าร่วมในสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะคาดหวังกันว่า การเข้าร่วมกับ EU นั้นจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลุกฮือเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดียานูโควิช ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จนนานาชาติต้องออกมาไกล่เกลี่ยเพื่อลดความสูญเสีย และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี หลังจากปธน.ยานูโควิชถูกรัฐสภาขับออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

กระทั่งประชาชนในเขตปกครองตนเองไครเมียซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนได้เริ่มไม่พอใจและก่อการจลาจลขึ้น ด้วยการปิดสถานที่ราชการและปลดธงชาติยูเครนลงจากเสาและชักธงชาติรัสเซียขึ้นแทน อีกทั้งมีกองกำลังไม่ระบุฝ่าย ซึ่งคาดกันว่าเป็นทหารของฝั่งรัสเซียเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ผนวกไครเมียกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายรัสเซียก็ได้ยกกองทัพเข้ามาประชิดพรมแดนยูเครน ทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า วิกฤตในภาคตะวันออกของยูเครนมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ไครเมียจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน และได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียไปเมื่อเดือนก.พ. 2557 เหตุการณ์ครั้งนั้นได้จุดกระแสความต้องการแบ่งแยกดินแดนให้ลุกโชน และแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดอย่างชัดเจนระหว่างทางการยูเครนและประชาชนที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และเมื่อประกอบกับการที่รัสเซียยื่นมือเข้ามาสนับสนุนกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยแล้ว ความขัดแย้งและการสู้รบจึงได้ลุกลามบานปลายออกไป

*โดเนตสก์-ลูฮันสก์ และ "ไครเมีย โมเดล"

หลังประสบความสำเร็จในการใช้กำลังทหารผนวกคาบสมุทรไครเมียในปี 2557 เป้าหมายต่อไปของรัสเซียคือการกดดันไม่ให้นาโตรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากสนธิสัญญาของนาโตระบุชัดเจนว่า หากสมาชิกชาติใดชาติหนึ่งของนาโตถูกโจมตี กองกำลังทหารของทุกชาติในเครือนาโตก็พร้อมที่จะโจมตีตอบโต้เพื่อปกป้องสมาชิก และหากเป็นเช่นนั้น ภัยพิบัติของรัสเซียก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม

การที่นาโตมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้และไม่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ทำให้รัสเซียมองเห็นอันตรายที่อยู่ข้างหน้า จึงเริ่มสะสมกำลังทหารบริเวณชายแดนยูเครนเป็นจำนวนมากเกือบ 1 แสนนาย จนกระทั่งปูตินกดปุ่มไฟเขียวให้บุกเข้ายูเครนในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยใช้เงื่อนไขในกฤษฎีกาที่ตนเองลงนามรับรองแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์เป็นใบเบิกทางในการบุกโจมตี โดยเงื่อนไขข้อหนึ่งกำหนดว่า รัสเซียมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะส่งกำลังทหารและตั้งฐานทัพใน 2 แคว้นแห่งนี้ และหากพบว่ามีความเสี่ยงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับ 2 แคว้นดังกล่าว รัสเซียก็สามารถใช้กำลังทหารเข้าปกป้องคุ้มครองได้ทันที

ฝ่ายแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ต่างก็เคยเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากในการบูรณะฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการสู้รบกับกองกำลังทหารของรัฐบาลยูเครนเป็นเวลานานถึง 8 ปี จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นประชาชนของแคว้นทั้ง 2 เต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย

แนวคิดของชาวแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ไม่แตกต่างจากชาวไครเมียที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชเพื่อกลับสู่ผืนแผ่นดินแม่ เนื่องจากประชาชนเหล่านี้มีความคิดที่ฝังรากลึกมาช้านานว่า พวกเขาเป็นชาวรัสเซีย ขณะที่ปูตินเองนั้นก็มองว่าโดเนตสก์และลูฮันสก์ต่างก็เป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ และมีโรงถลุงแร่เหล็กซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำคัญของยูเครน เช่นเดียวกับที่ปูตินมองว่าไครเมียเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญและมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่ตั้งของฐานทัพเรือรัสเซียในเซวาสโตโพลซึ่งรัสเซียได้เช่าพื้นที่มาจากยูเครนเพื่อใช้ฐานทัพแห่งนี้เป็นพื้นที่ส่งกองหนุนให้กับรัฐบาลซีเรีย โดยมีเป้าหมายที่จะต่อกรกับฝ่ายต่อต้านที่มีชาติตะวันตกหนุนหลังอยู่ และที่สำคัญไปกว่านั้น รัสเซียมองว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นเสมือนกันชนที่จะป้องกันไม่ให้อิทธิพลของนาโตแผ่ขยายเข้าสู่ทะเลดำ

*รัสเซียยึดโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล หวังพิชิตศึกยูเครนโดยไม่ยืดเยื้อ

คณะบริหารของรัฐบาลยูเครนยืนยันว่า ขณะนี้ทหารรัสเซียสามารถยึดโรงงานนิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิลไว้ได้แล้ว ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วโลก เนื่องจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิลเคยเกิดระเบิดขึ้นในปี 2529 ส่งผลให้กากนิวเคลียร์จำนวนมากฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้หลายพื้นที่ในยุโรปปนเปื้อนกัมมันตรังสี และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เจมส์ แอคตัน นักวิเคราะห์จากสถาบันส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศคาร์เนกี แสดงความเห็นว่า การที่รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลนั้น มีเหตุผลมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลตั้งอยู่ในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดระหว่างประเทศเบลารุสและกรุงเคียฟของยูเครน และขนานไปกับเส้นทางการโจมตีที่รัสเซียวางแผนจะใช้ในการบุกยูเครน

แอคตันกล่าวว่า "การที่รัสเซียยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็เพื่อใช้เป็นเส้นทางสำหรับการบุกโจมตีจากเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียได้เร็วที่สุด นี่เป็นวิธีเดินทางที่เร็วที่สุดจุด A ไปจุด B"

ขณะที่พลเอกแจ็ก คีน อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐให้ความเห็นว่า "เชอร์โนบิลไม่ได้มีนัยสำคัญทางการทหาร แต่เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากเบลารุสมายังกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่รัสเซียจะใช้ในการยึดอำนาจและขับไล่รัฐบาลยูเครนออกไป"

แม้เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าความต้องการของรัสเซียจะสิ้นสุดอยู่ที่แคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์หรือไม่ หรืออาจไปไกลถึงขั้นยึดครองยูเครนทั้งประเทศ แต่ผู้ที่น่าเห็นใจมากที่สุดในเวลานี้คงไม่พ้นชาวยูเครนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งจากภัยสงครามและสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลง โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่สหรัฐรายงานโดยได้อ้างแหล่งข่าววงในว่า ขณะนี้ขบวนยานยนต์ของกองทัพรัสเซียได้รุกคืบเข้าสู่ยูเครนผ่านทางชายแดนที่ติดกับเบลารุส ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเพียง 32 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนกองกำลังอีกกองหนึ่งได้เดินทางจากรัสเซียเข้าสู่ยูเครนด้วยเช่นกัน โดยกองกำลังทั้งสองส่วนต่างกำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าล้อมเมืองและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนลงในที่สุด