ผู้เขียน หัวข้อ: พาณิชย์ ชี้เป้าสินค้าเกษตร-อาหารเจาะตลาดญี่ปุ่นย้ำเข้มมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น  (อ่าน 313 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ hs8jai

  • *
  • กระทู้: 769
  • Popular Vote : 0
พาณิชย์ ชี้เป้าสินค้าเกษตร-อาหารเจาะตลาดญี่ปุ่นย้ำเข้มมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้หาช่องทางการทำตลาดให้กับสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก โดยล่าสุดได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ถึงโอกาสในการทำตลาดสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดญี่ปุ่น และกลยุทธ์ในการเจาะตลาดญี่ปุ่น

สำหรับที่มีโอกาสในการทำตลาดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ ผลไม้ไทย เช่น มะม่วงดิบ, มะม่วงสุก, มะพร้าวสด, มังคุด, ทุเรียน (ทั้งลูก), ทุเรียนแกะ, เนื้อ (แช่เย็น) และมะขามสด เป็นต้น สินค้าจำพวกอาหารพร้อมทาน เช่น แกงเขียวหวาน, ผัดกะเพรา, แกงแดง, มัสมั่น และแกงไทยต่างๆ รวมถึงขนมขบเคี้ยว เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง, ขนมอบกรอบผสมถั่ว และหิมพานต์รสต้มยำกุ้ง ตลอดจนเครื่องปรุง อาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป เช่น เครื่องปรุงทำต้มยำ ชุดทำอาหารไทยที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น เช่น ผัดไทย, ต้มยำ และยำวุ้นเส้น เป็นต้น

ส่วนช่องทางการจำหน่าย มีหลายช่องทาง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น AEON, Beisia, Seijo Ishi และ Yaoko เป็นต้น ร้านปลีกขนาดใหญ่ เช่น ดองกี้โฮเต้ ร้านขายยาและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น Sundrug และ Matsumotokiyoshi เป็นต้น ร้านอาหารไทย ร้านจำหน่ายสินค้านำเข้าเฉพาะทาง เช่น Kaldi และช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon, Rakuten และ Yahoo Shopping เป็นต้น โดยส่วนมากสินค้าจะผ่านบริษัทนำเข้า บริษัทค้าส่ง หรือบริษัทจัดหาสินค้าและบริการซึ่งมากระจายสินค้าต่อไปตามช่องทางค้าปลีกข้างต้นอีกทอดหนึ่ง

สำหรับข้อควรทราบในการทำตลาด ได้แก่

1. รสชาติและลักษณะอาหารที่เป็นที่นิยม เช่น ผลไม้แห้ง ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม เน้นความหวานตามธรรมชาติ อาหารแปรรูป เช่น แกง หรือต้มยำ ปรุงรสให้กลมกล่อม ไม่เผ็ด จืด หรือเปรี้ยวเกินไป เครื่องดื่มผสมเนื้อผลไม้ได้บ้าง แต่อย่าหวานเกินไป เน้นรสชาติธรรมชาติ ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เช่น ทองม้วน คุกกี้ ระวังกลิ่นที่ใช้ปรุงแต่ง เช่น อย่าให้กลิ่นอบเชย หรือกลิ่นมะลิแรงไป

2. สินค้าแต่ละประเภทที่จะวางจำหน่าย จะต้องมีการวางแผนการจำหน่ายที่ชัดเจน ตั้งแต่ซื้อจำนวนน้อยจนถึงมาก

3. การตรวจสอบเอกสารของสำนักงานกักกัน จะมุ่งเน้นการตรวจสอบตามกฎหมายและมาตรฐาน

4. ฉลากสินค้าในการวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ต้องมีการกำกับเป็นฉลากภาษาญี่ปุ่น

5. การใช้คำว่า Organic จะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรองก่อน

6. ปริมาณต่อในแต่ละบรรจุภัณฑ์ ต้องเหมาะสมกับแต่ละช่องทางการจำหน่าย

7. ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ต้องดึงดูด และมีรายละเอียดกำกับชัดเจน

นายกิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า สำนักงานฯ มีแผนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า ชูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองในประเทศญี่ปุ่น เช่น งานเทศกาลสินค้าไทย

ทั้งนี้ จะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย เช่น ผลไม้ อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็งต่างๆ ซึ่งก็จะได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคญี่ปุ่นอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ไม่เคยลองสินค้าไทย ได้ทดลองซื้อ และทำความรู้จักสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น และยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยในรายการ TV Shopping ด้วย

นอกจากนี้ มีแผนที่จะนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารในญี่ปุ่น เช่น Supermarket Trade Show จัดในช่วงเดือนก.พ. ของทุกปี และงานแสดงสินค้า Foodex Japan จัดช่วงเดือนมี.ค. ของทุกปี รวมทั้งจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา มีการจัดเจรจาสินค้าหลายกลุ่ม ทั้งผักผลไม้ไทย อาหารแปรรูป อาหารทางเลือก (Future foods) กาแฟไทย ขนมขบเคี้ยว และ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มอีกหลายรายการ ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าญี่ปุ่นจำนวนมาก

ส่วนช่องทางการส่งออกสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น จะมีกระบวนการที่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหลายขั้นตอน การที่ผู้ประกอบการไทยจะทำทุกกระบวนการด้วยตนเอง ตลอดจนการหาช่องทางในการกระจายสินค้านั้น อาจทำได้ยาก วิธีที่ง่ายและมีความเป็นไปได้มากที่สุด คือการหาผู้นำเข้าสินค้าและดำเนินเอกสารต่างๆ ให้แต่ผู้ส่งออกต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภค เช่น โรงงานที่ผลิตผ่านมาตรฐาน ISO, GMP หรือ HACCP เป็นต้น

ส่วนตลาดสินค้า Organic จำเป็นต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน JAS ก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงพอควร ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนการตัดสินใจยื่นขอ และการหาคู่ค้าสำหรับสินค้าของตนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่างๆ ตลอดจนงานเจรจาธุรกิจที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่ดีมาก ซึ่งผู้ส่งออกควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการบุกตลาดญี่ปุ่น