ผู้เขียน หัวข้อ: ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ  (อ่าน 203 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ailie662

  • *
  • กระทู้: 817
  • Popular Vote : 0
ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๑๑ (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๑๑

(11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕

(๑) ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการสถานการณ์ความรุนแรงและการปะทะระหว่างกันที่แย่ลง ซึ่งเป็นผลจากการใช้กำลังทหารในยูเครน ที่ส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต รวมถึงชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์และความเสียหายของทรัพย์สินและสาธารณูปโภคของพลเรือน

(๒) รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๖๕ ตั้งแต่นั้น การปะทะด้วยอาวุธยังคงดำเนินต่อไป โดยมีผู้เสียชีวิตซึ่งรวมถึงพลเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

(๓) สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัย และผู้หนีการสู้รบมีความน่ากังวลเป็นพิเศษ ประเทศไทยชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนและรัฐอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในส่วนของประเทศไทย จะให้ความร่วมมืออย่างสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง และผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

(๔) ประเทศไทยเคารพหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นเอกราชของรัฐ รวมทั้งการละเว้นการใช้กำลังหรือการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น เราจึงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการปะทะทางอาวุธโดยทันที สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมความเปราะบางด้านมนุษยธรรม และเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในขณะนี้

(๕) ประเทศไทยขอย้ำคำเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อหาข้อยุติโดยสันติวิธี และมีทางออกที่ยั่งยืน ผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกระดับภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในการนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการหารือทวิภาคีล่าสุดระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จ

(๖) ในฐานะประเทศที่รักความสงบ มีความศรัทธาในเจตนาดีของชาติต่าง ๆ และความเข้าอกเข้าใจกันของมวลมนุษยชาติ เราจึงจะยังสานต่อความหวังว่า ในที่สุด ทุกฝ่ายจะกลับเข้าสู่เส้นทางของสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ