เพิ่งอ่านใน FB น่าสนใจดี ทำให้ผมนึกถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นใน SSS เลยเอามาฝากให้อ่านกันบางส่วน
จากงานประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ระดับปริญญาตรี จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร ครั้งที่ 1 รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาปิดงานเรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ในมนุษย์ศาสตร์
ชูศักดิ์กล่าวถึงพื้นฐานหลักของแนวคิดโครงสร้างนิยมว่า เป็นการเริ่มมองแบบองค์รวม โดยเห็นว่าการจะเข้าใจ อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ไม่อาจมองปรากฏการณ์ต่างๆ ในลักษณะแยกส่วน เพราะระบบความหมายทั้งหมดเกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ในตัวระบบนั้นที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่ และความหมายต่างๆ โครงสร้างที่กำหนดความหมายและความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในระบบไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยการวิเคราะห์ มุ่งมองเชื่อมโยงให้เห็นว่ามันถูกกำกับด้วยระบบความสัมพันธ์ชนิดใด วิธีมองแบบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการศึกษามนุษยศาสตร์
เขากล่าวว่า นัยยะที่สำคัญมากของโครงสร้างนิยมหรือหลังโครงสร้างนิยม คือ มันเกิดกระบวนการที่หันมาวิพากษ์ตัวมันเอง ไม่ใช่ลักษณะการตั้งคำถามกับวิธีการศึกษา แต่วิพากษ์สถานะ หรือศาสตร์ของมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆ วงการ พูดแบบบ้านๆ นักวิชาการช่วงโครงสร้างนิยมได้ดำเนินการ ทุบหม้อข้าวตัวเอง สงสัยแม้แต่ศาสตร์ของตัวเอง กล้าวิพากษ์ตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ชูศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า มนุษยศาสตร์มีสปิริตของการวิพากษ์ และเอื้อให้เราสังสรรค์กับความเป็นอื่น เพราะวิธีการศึกษามนุษยศาสตร์ต่างจากศาสตร์อื่น เราไม่ได้เอาความจริงเชิงประจักษ์เป็นคำตอบสุดท้ายให้กับการศึกษา มนุษยศาสตร์ไม่สามารถชี้ผิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือให้คำตอบรูปธรรมได้ มันไม่ได้ให้ความสนใจกับคำตอบตายตัว แต่ให้ความสนใจกับกระบวนการเข้าถึงคำตอบ หรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า การศึกษามนุษยศาสตร์เอื้อต่อสำนึกที่เราอาจเรียกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ ขันติธรรม
การที่เราสามารถไปนั่งในหัวใจคนอื่น คิดและรู้สึกแทนคนอื่นได้ ต้องเผชิญหน้าความเป็นอื่นและเข้าใจความเป็นอื่นได้ วิชามนุษยศาสตร์เป็นประตูที่เปิดให้เราปะทะสังสรรค์กับความเป็นอื่น จะด้วยวิธีการศึกษาใดเล่าที่จะทำให้เราบรรลุขันติธรรมนี้
ผมเตรียมเรื่องนี้มานาน ท้ายที่สุด ผมเจอการ์ตูนอันนี้(เรณู ปัญญาดี) ในมติชนสุดสัปดาห์ ... ผมคิดว่ากระบวนทัศน์ใหม่ที่เสนอให้พวกคุณพิจารณา จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างไร จะมีประโยชน์ยังไงกับการมาตั้งคำถามกับความเป็นทรราชย์ของมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมอย่างที่พวกโครงสร้างนิยมและโพสต์โมเดิร์นกำลังถกเถียงกันอย่างขะมักเขม้นในโลกตะวันตก ในขณะที่สังคมของเราตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของเทวนิยม อวิชชานิยม และบาทานิยม ได้แต่หวังว่าพวกคุณจะร่วมกันคิดต่อไปว่าเราจะก้าวข้าม บาทานิยม ที่กำลังครอบคลุมสังคมไทยในขณะนี้ได้อย่างไร ชูศักดิ์กล่าวสรุป